เนื้อหาวันที่ : 2013-09-17 13:37:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2031 views

นักวิจัยยาง แนะรัฐช่วย SME ทางสว่างของเกษตรกรยางแบบยั่งยืน

นักวิจัยท้อ นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพและอุตสาหกรรมยางไทย ลงจากหิ้งไม่ได้ เพราะภาคอุตสาหกรรมไทยขาดทุน เผย SME ทยอยปิดตัวแล้วเพียบ

นักวิจัยท้อ นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพและอุตสาหกรรมยางไทย ลงจากหิ้งไม่ได้ เพราะภาคอุตสาหกรรมไทยขาดทุน เผย SME ทยอยปิดตัวแล้วเพียบ แนะรัฐจะต้องชูนโยบายใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มากกว่านี้ เพิ่มโอกาสให้ SME และเกษตรกรสวนยางระยะยาว

รศ.ดร.เพลินพิศ บูชาธรรม ภาควิชาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งทำงานวิจัยในอุตสาหกรรมยางมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี กระทั่งได้รับรางวัลเมธีส่งเสริมนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของนักวิทยาศาสตร์ของไทยในการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของยาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบนั้นมีจำนวนมาก บางงานวิจัยยังไม่เคยมีประเทศใดทำได้ แต่เสียดายที่งานวิจัยดีๆ เหล่านั้น ไม่สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีลงสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้จริง เพราะติดปัญหาด้านการลงทุน การตลาด ส่งผลทำให้ไม่มีการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากยางพาราภายในประเทศ จึงไม่มีความต้องการการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นในขณะที่ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาสิบปีนี้ เป็นผลทำให้ราคายางพาราตกต่ำอย่างมาก

แม้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการชะลอตัวของการผลิตยางซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากหลายเรื่อง ทั้งปริมาณการผลผลิตกับความต้องการของตลาดไม่สอดคล้องจนเกิดการล้นตลาด หรือจีนมีสต๊อกสินค้าจำนวนมากถึงขั้นประกาศให้เกษตรหยุดกรีดน้ำยาง รวมถึงธุรกิจรถยนต์ในญี่ปุ่นที่ถดถอย แต่การแก้ไขปัญหาภายในประเทศของไทยจะต้องเดินหน้าไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมของกลไกตลาดเท่านั้น พร้อมระบุว่า ในระยะหลังกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กของไทยทยอยปิดตัวไปจำนวนมาก รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปจากยางกลุ่มนี้เป็นผู้ประสบปัญหาจากราคายางที่ค่อนข้างผันผวนมาโดยตลอด ทำให้ยากต่อการคำนวณต้นทุนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ของไทยที่ต้องเลิกกิจการ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจยางที่ยังเหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติไม่ใช่คนไทย

กลุ่มอุตสาหกรรมยางขนาดเล็กของไทยน่าสงสารมาก ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังแบบเต็มรูปแบบ แม้จะมีการปล่อยกู้บ้างแต่เงื่อนไขที่มากมายที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทดลองสายการผลิตใหม่เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาด ดังนั้นการทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางในอุตสาหกรรมระดับ SME ของไทยซึ่งมีอยู่มากจึงมีความเป็นไปได้ยากมาก ด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ ทั้งค่าใช้จ่าย การรับความเสี่ยงตลอดจนความชัดเจนของตลาด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะต้องเอื้อมมือเข้ามาช่วย SME อย่างทั่วถึงและเต็มรูปแบบมากกว่านี้ ค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าแรงงานที่สูงขึ้นทำให้มีผลกระทบมากอยู่แล้ว

 การพัฒนายางพาราของไทยที่จริงแล้วมีงานวิจัยมากมาย ออกมารองรับพร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่าอยู่จำนวนมาก แต่สุดท้ายก็ขึ้นหิ้งหมดไม่สามารถต่อยอดในภาคการผลิตได้จริง ทั้งที่น่าจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย การทำการวิจัยและพัฒนาส่วนใหญ่เกิดมีขึ้นในส่วนกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือมีเงินลงทุนเพียงพอซึ่งก็มักจะเป็นของต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากและต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่ลึกในด้านศาสตร์ของยางด้วย”

รศ.ดร.เพลินพิศระบุว่าดังนั้น รัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนไม่เฉพาะจากต่างชาติเท่านั้น เพราะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเปิดโรงงานก็ต้องประสบปัญหาเดิมๆ คือขาดแรงงานเพราะคน

ไทยไม่ทำในตำแหน่งเล็กๆ ประกอบกับค่าแรงที่ราคาสูงขึ้น อีกทั้งเป็นมาตรการที่สุดท้ายแล้วเกษตรกรอาจจะไม่ได้รับประโยชน์มากเท่ากับคนกลาง เพราะเกษตรกรยังคงขายยางดิบอยู่ ดังนั้นมาตรกรดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอ รัฐจะต้องส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้เกิดขึ้น หรือเกิดการรวมตัวเพื่อการผลิตจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเอง รวมถึงการใช้โรงงานที่ อ.ส.ย.พยายามผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปยางแต่ไม่ได้มาตรฐานสากลนั้นกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากแต่จะต้องใช้งบประมาณหลายล้านบาทในการปรับปรุง เพราะการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพ หรือนวัตกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทย แต่ปัญหาคือเงินลงทุนซึ่งขณะนี้ในส่วนขององค์ความรู้หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของไทยค่อนข้างพร้อม

การจะช่วยกลุ่ม SME นั้นไม่ใช่แค่ให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรเท่านั้นแล้วจบซึ่งที่ผ่านมามันได้พิสูจน์แล้วว่าแนวทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือองค์ความรู้ซึ่งในส่วนนี้นักวิชาการด้านยางของไทยซึ่งมีอยู่จำนวนมากนั้นคิดว่าเขาพร้อมที่จะนำความรู้ไปให้ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เป็นปลายน้ำที่สามารถเพิ่มมูลค่าและโอกาสให้กับยางไทย อาทิการพัฒนาน้ำยางให้เข้ากันได้กับพลาสติกเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ทนแรงกระแทกได้ดี การพัฒนาเรื่องของการทำให้ยางมีความหนืดคงที่ ลดการเกิดเจล การกำจัดสารที่ทำให้แพ้ในน้ำยางเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้ายยืดถุงมือยางการใส่สารเคมีเพื่อให้ยางธรรมชาติมีความคงทนมากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับยางไทย

การนำยางธรรมชาติมาผลิตวัสดุผิวเคลือบสะท้อนความร้อนสูตรไบโอดีเซลที่มีน้ำมันเมล็ดยางพาราเป็นส่วนประกอบการดัดแปรในระดับโครงสร้างในระดับโมเลกุลของยางเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม กาว หมึกพิมพ์ หรือแม้กระทั่งการทำน้ำหมึกจากยางธรรมชาติที่ดัดแปรโครงสร้างแล้วนั้น นักวิจัยไทยก็สามารถทำได้เป็นหนึ่งเดียวในโลก แต่ปัญหาที่เราไปต่อไม่ได้คือการลงทุน และการหาตลาดรองรับ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลน่าจะต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อมีตลาดมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางแล้ว การผลิตก็เดินหน้าได้ ก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราของไทยมากขึ้น เมื่อมีความต้องการใช้ยางขยายออกไปอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ราคายางพาราก็จะไม่ตกต่ำอย่างเช่นปัจจุบันแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหวนกลับมาคิดให้ความสำคัญและทำเป็นนโยบายแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม”

รศ.ดร.เพลินพิศ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้รัฐยังสามารถหามาตรการอื่นๆ ในการช่วยให้ยางมีโอกาสในตลาดการค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น การให้มีการนำยางมาใช้แทนอิฐบล็อกปูทางเท้า หรือ ใช้หุ้มเสาไฟฟ้าเพื่อลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อย่าลืมว่าประเทศเราจะเข้าสู่ประเทศที่มีผู้สูงวัยมาก ดังนั้นการป้องกันทั้งด้านสุขภาพและอุบัติเหตุจึงควรจะได้รับการดำเนินการ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำยางมาใช้แทนอิฐบล็อก แม้แต่ทำถนนมานานแล้ว เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่นหลายเรื่องทั้งป้องกันอุบัติเหตุ มีความยืดหยุ่นสูง ดีต่อสุขภาพหากเดินบนพื้นยางทำให้ข้อเท้าและเข่าไม่เสื่อมง่าย แม้จะมีต้นทุนที่สูงกว่าอิฐบล็อกแต่ในระยะยาวแล้วคุ้มทุนในเรื่องคุณสมบัติที่ทนกระแทกได้มากกว่า ที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับยางไทยที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งตลาดภายในประเทศด้วย เพราะหากพึ่งแต่ตลาดต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจจะประสบปัญหาอย่างที่เป็นทุกวันนี้