เนื้อหาวันที่ : 2013-09-12 13:54:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2282 views

กสอ. รุกปั้น 3 อุตสาหกรรมไทย บุกตลาดภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รับเออีซี

การตื่นตัวกันอย่างมากเพื่อการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี สะท้อนให้เห็นในรูปแบบของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้

นับเวลาอีกไม่นานจากนี้ เราก็จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกันแล้ว ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กันอย่างคึกคัก ล่าสุดทางกองบรรณาธิการได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สำรวจการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมลุ่มแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งปัจจุบันได้มีการตื่นตัวกันอย่างมากเพื่อการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี สะท้อนให้เห็นในรูปแบบของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้ ทั้งจากการลงทุนของนักลงทุนชาวไทย และนักลงทุนต่างประเทศ การเกิดขึ้นของห้างค้าปลีกและไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายรายที่เข้ามาลงทุน ความคับคั่งของการค้าขายตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยซึ่งมีประชากรหนาแน่นขึ้น ทำให้เกิดความต้องการทางด้านอุปโภคบริโภคในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตามมา ซึ่งความชัดเจนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงราคาที่ดินในแถบนี้ ที่ถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาเพียงไม่นาน


  ภาพจากซ้ายไปขวา
* นายวุฒิภัทร สัจจมุกดา ผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกิจ คาร์เซอร์วิส แอนด์ ยางยนต์
* นายจันทร ตยางคนนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมมุกดาหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มุกดาหาร ซี เค กรุ๊ป จำกัด
* นายธนิตศักดิ์ บุญกมลศรีศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
* นายสุวัฒน์ ผานิตกุลวัฒน์ ประธานโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) จ.มุกดาหาร
* นายลีนวัฒน์ สิงหธนะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บิ๊กดี เมทัลชีท

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ปัจจัยเร่งการค้าชายแดนเติบโต
นายธนิตศักดิ์ บุญกมลศรีศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กล่าวว่าปัจจุบันการค้าในเขตชายแดนไทย-ลาว นั้นมีความคึกคักเป็นอย่างมากอันเกิดจากการสร้างสะพานมิตรภาพไทย–ลาว ทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่ สะพานมิตรภาพ 1 หนองคาย-เวียงจันทร์ สะพานมิตรภาพ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต สะพานมิตรภาพ 3 นครพนม-คำม่วน ซึ่งสะพานดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและสร้างความสัมพันธ์และก่อให้เกิดศักยภาพในระบบการขนส่งระหว่างประเทศ โดยในปี 2555 ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยสู่ สปป.ลาวมีมูลค่าการส่งออกสินค้า จำนวน 109,059.22 ล้านบาท โดยปรับตัวขึ้นจากปี 2554 กว่า 34.43% โดยเฉพาะในด้านการค้าชายแดนไทย-ลาวในจังหวัดมุกดาหารซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2555 กว่า 28,677.9 ล้านบาท หรือประมาณ 26.29% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ในพื้นที่บริเวณชายแดน ไทย-ลาว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ในลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดบึงกาฬ จะเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตในปัจจุบันซึ่งน่าจับตามอง


นายธนิตศักดิ์ บุญกมลศรีศักดิ์
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

กสอ. ปั้น 3 อุตสาหกรรมไทย ดาวรุ่งรับเออีซี
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าอุตสาหกรรมสูงในภูมิภาคนี้ ซึ่งน่าจับตามอง 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมธุรกิจอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมการบริการ โดยปัจจุบันทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีจำนวนผู้ประกอบการในพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงของไทย ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5-10% ต่อปี โดยในอนาคตดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางภาคการผลิต ภาคการค้าที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง และเกิดการเชื่อมโยงการค้าสำหรับอาเซียนตอนบน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเวียดนามซึ่งจะสอดรับกับโครงการ GMS Economic Corridors (ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง) ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าขายการลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมบริการ และเกษตรกรรมระหว่างประเทศ เกิดการจ้างงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น โดย 3 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่งในภูมิภาคนี้ได้แก่


1. อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะ สปป.ลาว ที่มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15% ต่อปี โดยเฉพาะสินค้าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องที่ใช้ภายในครัวเรือน อาทิ น้ำมันพืช น้ำตาล อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำแข็ง ฯลฯ ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าให้กับประชาชนของ สปป.ลาว เนื่องจาก สปป.ลาว มีประชากรเพียง 6.2 ล้านคน ดังนั้นผู้ประกอบการเอกชนจึงยังไม่ให้ความนิยมในการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ ทำให้สินค้าไม่เพียงพอกับต้องการของคนในประเทศ จึงต้องพึ่งพาสินค้าที่นำเข้าจากไทย ซึ่งมีความหลากหลายมากกว่าและคุณภาพของสินค้าที่สูงกว่า

2. อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการจากภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่เริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงมีความต้องการในการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยสินค้าจากประเทศไทยที่ปัจจุบันได้รับความนิยมใน สปป.ลาว ได้แก่ อิฐบล็อกกระเบื้อง โครงอะลูมิเนียมหลังคาเหล็ก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว มีนโยบายในการเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจึงมีความต้องการในกลุ่มสินค้าประเภทนี้เพื่อรองรับการค้าและการลงทุนที่กำลังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจากข้อมูลในปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างใน สปป.ลาว กว่า 69.7 ล้านบาท

3. อุตสาหกรรมบริการ กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นกลุ่มที่มีโอกาสและเหมาะกับธุรกิจ SMEs ของไทย ประเภท ผู้ประกอบการ สปา ร้านกาแฟ อู่ซ่อมรถ โรงแรม ท่องเที่ยวและคาร์แคร์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการคาร์แคร์ ใน สปป.ลาว มีจำนวนน้อยและการให้บริการยังไม่ครบวงจร แต่จำนวนรถยนต์ในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ตลอดทั้งแนวการค้าชายแดนไทย และ ใน สปป.ลาว ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวนอกจากจะตอบสนองประชาชนในบริเวณดังกล่าว ยังจะสามารถตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวให้ความนิยมจำนวนมาก 

การเตรียมความพร้อมของ กสอ. รับศึกเออีซี
สำหรับการเตรียมความพร้อมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยแนวชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงให้พร้อมก่อนการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ด้วยโครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก อันได้แก่ กิจกรรมฝึกอบรม การพัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก การพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาสถานประกอบการ และการสร้างเครือข่ายธุรกิจ


นายธนิตศักดิ์ บุญกมลศรีศักดิ์ กล่าวว่าทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มุ่งผลักดันจากใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่าน โครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC โดยจะเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในแนวชายแดนไทย-ลาว ให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีการค้าอาเซียนหรือ AEC ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ โดยผ่าน 5 กิจกรรมหลักได้แก่


1. กิจกรรมฝึกอบรม เพื่อติวเข้มสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการ พร้อมการประเมินตนเอง (Self Assessment) วิเคราะห์ SWOT ของตนเอง รวมทั้งวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ และผลกำไร ทั้งก่อนและหลังการสัมมนา เพื่อให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันของกิจการของตนเอง และวางแนวทางในการก้าวสู่ AEC ด้วยแผนที่ธุรกิจหรือ Business Roadmap โดยมีเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 12,000 ราย

 2. การพัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก ด้วยวิธีการฝึกอบรมให้กับผู้ที่มีความรู้ในการประกอบกิจกรรมในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ความรู้เรื่องภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศ กฎระเบียบ ประเพณี ค่านิยมและศาสนา เป็นต้น ตั้งเป้าดำเนินการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ จำนวน 5,000 ราย

 3. การพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม เน้นไปที่บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้ และเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวสู่ AEC เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การส่งต่อและรับช่วงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในเชิงลึกในรายสาขา โดยมีเป้าหมายพัฒนาแรงงานในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย

4. การพัฒนาสถานประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันรวมกลุ่มกัน และให้ที่ปรึกษาเข้าไปให้คำแนะนำเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการวางกำหนดนโยบาย ระบบการบริหารจัดการ การทำแผนกลยุทธ์ การกำหนดเป้าหมาย การประมาณการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น แรงงาน วัตถุดิบ และเงินลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมกับโครงการ จำนวน 650 กิจการ

5. การสร้างเครือข่ายธุรกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายในการประกอบกิจการกับประเทศใกล้เคียง อาทิ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เป็นต้น เพื่อสร้างความร่วมมือในระบบห่วงโซ่การผลิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างเครือข่ายในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 10 เครือข่าย

มุมมองของผู้ประกอบการ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
จากการลงพื้นที่สำรวจดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับเออีซีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจังหวัดมุกดาหารมีพรมแดนติดต่อกับแขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มีโอกาสพูดคุย เป็น 3 อุตสาหกรรมตัวอย่างที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เมื่อมีการเปิดเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ โดยผู้ประกอบการรายแรกที่ได้มีโอกาสพูดคุยคือ นายวุฒิภัทร สัจจมุกดา ผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกิจ คาร์เซอร์วิส แอนด์ ยางยนต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ อุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการอย่างครบวงจร ทั้งด้านประดับยนต์ เปลี่ยนล้อเปลี่ยนยาง ตรวจสภาพรถ ต่อทะเบียน ประกันภัยรถยนต์ ซ่อมเคาะพ่นสี รวมถึงการดัดแปลงเครื่องยนต์ ซึ่งปัจจุบันมี 3 สาขา โดยให้บริการครอบคลุมพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร นครพนม และสะหวันนะเขต โดยผู้ประกอบการรายนี้กล่าวว่า “เรามีแผนในการขยายธุรกิจที่แขวงสะหวันนะเขต ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งตรงกับการเปิดเออีซีพอดี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมากใน สปป.ลาว ปัจจุบันเรามีลูกค้าชาวลาว รวมถึงเวียดนาม เข้ามาใช้บริการถึง 150 คันต่อวัน ขณะที่ในลาวมีผู้ให้บริการในธุรกิจประเภทนี้น้อยมาก อีกทั้งสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์ไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร รวมทั้งฝีมือแรงงานไทยที่มีทักษะและมีความเชี่ยวชาญกว่า”

ส่วนการปรับตัวและเตรียมความพร้อมนั้น ผู้บริหาร กล่าวว่า “จะต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันและรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ การเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากร ทั้งในด้านภาษา และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบันเรามีปัญหาขาดแคลนช่างที่มีฝีมือจำนวนมาก นอกจากนี้เรายังได้มีการเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) โครงการเพิ่มศักยภาพการวางแผนภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ลุ่มน้ำโขง ทำให้ได้รับความรู้และมั่นใจในการขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น”

ทางด้าน นายจันทร ตยางคนนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมมุกดาหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มุกดาหาร ซีเค กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนของ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตน้ำแข็งรายใหญ่ของจังหวัดมุกดาหาร รวมถึงดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำแข็งหลอด น้ำดื่ม และน้ำอัดลม ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งขายในตัวจังหวัดเท่านั้น แต่ยังกระจายไปจังหวัดใกล้เคียงด้วย

“ปัจจุบันการค้าขายในจังหวัดมุกดาหารมีความคึกคักอย่างมาก เห็นได้จากการลงทุนของนักลงทุนเข้ามาสู่มุกดาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งห้างค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายราย หรือแม้แต่ร้านค้าปลีกค้าส่งรายย่อยก็ได้รับอานิสงค์จากการเติบโตในภูมิภาคนี้ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง มีการเปิดมากขึ้น รวมถึงการจัดประชุมสัมมนา กิจกรรมของโรงเรียน เหล่านี้ทำให้มีการใช้น้ำแข็งจำนวนมากในการจัดเลี้ยงสังสรรค์ ธุรกิจนี้จึงมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเริ่มแรกเราจำหน่ายน้ำแข็งได้เพียง 30 ตัน/วัน แต่ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา เรามีกำลังการผลิตและจำหน่ายถึง 260 ตัน/วัน ในจังหวัดมุกดาหาร และมีการขยายไปยัง 2 อำเภอข้างเคียงคือ อ.นาแก จำนวน 100 ตัน และ อ.ธาตุพนม จำนวน 160 ตัน ทำให้ปัจจุบันเรามียอดจำหน่ายอยู่ที่ 520 ตัน/วัน” นายจันทรกล่าว
       


    
สำหรับมุมมองต่อการเปิดเออีซีที่มีต่อธุรกิจนั้น เขามองว่า ขณะนี้ยอดซื้อส่วนใหญ่ยังมาจากภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนลูกค้าชาวลาวนั้นมีการรับน้ำแข็งไปขายต่อบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เนื่องจากการบริโภคยังมีน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังได้ประโยชน์ทางด้านการขนส่งที่ต้องใช้น้ำแข็งเป็นส่วนประกอบภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิ เช่น การแช่อาหารสด ผัก ผลไม้ ฯลฯ เพื่อส่งไปยังต่างประเทศ ส่วนการเข้าไปเปิดโรงงานใน สปป.ลาวนั้น ตนยังไม่มีแผนการ เนื่องจากยังมีกฎระเบียบเงื่อนไขหลายอย่างหากจะตั้งโรงงานใน สปป.ลาว ส่วนภาพรวมนั้น ตนเองในฐานะของประธานสภาอุตสาหกรรมมุกดาหาร มองว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยสู่อาเซียนนั้น มีทิศทางที่สดใส เนื่องจากได้รับความนิยมทั้งด้านคุณภาพของสินค้าและราคาที่ถูก โดยเฉพาะ สปป.ลาว ที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ของ สปป.ลาว ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตสินค้าประเภทนี้ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารจะเป็นแหล่งกระจายสินค้าจากประเทศไทยสู่ สปป.ลาว ที่สำคัญ โดยผ่านทางแขวงสะหวันนะเขต เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวลาวที่มีอยู่จำนวนกว่า 6 ล้านคนในประเทศ

ส่วนทางด้าน นายลีนวัฒน์ สิงหธนะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บิ๊กดี เมทัลชีท ตัวแทนของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเหล็กรูปพรรณ สแตนเลส และเมทัลชีท (อะลูซิงค์) ส่งขายทั้งในประเทศไทยและ สปป.ลาว โดยแบ่งเป็นลูกค้าในจังหวัดมุกดาหาร นครพนม และจังหวัดโดยรอบ มีสัดส่วน 95% และอีก 5% เป็นลูกค้า เป็นลูกค้าในแขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว

นายลีนวัฒน์ กล่าวว่า “สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในภูมิภาคนี้มีทิศทางสดใส ซึ่งผลจากการขยายตัวทางธุรกิจในภูมิภาคนี้ทำให้อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้เรามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000 เมตร/วัน ขยายตัวจากเดิมเมื่อ 5 ปีก่อนที่มีกำลังการผลิตเพียงแค่ 500-600 เมตร/วัน โดยปัจจุบันเรามีโรงงานผลิตทั้งหมด 2 สาขา โดยใช้แรงงานไทยจำนวน 30 คน และในปลายปีนี้มีแผนที่จะขยายโรงงานเพิ่มอีก 2 สาขา รวมถึงมีแผนในการนำเข้าเครื่องจักรจากเวียดนามเข้ามาจำหน่ายอีกด้วย”


       


    
สำหรับมุมมองต่อการเปิดเออีซีนั้น เขามองว่า มีทั้งความได้เปรียบและเสียเปรียบ เนื่องจากธุรกิจนี้สามารถทำได้ง่ายและคืนทุนได้เร็ว ผู้ประกอบการลาวอาจจะนำเข้าวัตถุดิบจากเวียดนามเข้ามาผลิตได้เอง เนื่องเวียดนามเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น สัดส่วนลูกค้าจาก สปป.ลาว อาจจะหายไปบ้าง อุปสรรคอีกอย่างคือ ปัจจุบันบริษัทยังต้องนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนสูง การส่งออกหลังคาเหล็กแบบสำเร็จรูปให้กับ สปป.ลาว ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความยาวของหลังคา จำเป็นต้องขนส่งด้วยรถขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อมีการเปิดเออีซีแล้ว ก็อาจจะทำให้เรามีความได้เปรียบในเรื่องของการผ่อนปรนทางภาษี อีกทั้งสินค้าของเรามีคุณภาพดีกว่าและราคาไม่สูง

“ส่วนการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในด้านการดำเนินธุรกิจนั้น ที่ผ่านมาเราได้มีการเข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในปี 2554 ซึ่งช่วยให้เราสามารถหาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งการนำระบบเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงทำให้สินค้ามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนการจ้างแรงงานได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยังเสนอแนะให้เพิ่มกลุ่มลูกค้าจากเดิมที่ขายเพียงลูกค้ารายย่อยที่ซื้อหน้าร้าน เป็นการมุ่งขายกลุ่มผู้รับเหมา ทั้งชาวไทยและชาวลาว เพื่อสอดรับกับการขยายตัวในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย” นายลีนวัฒน์ กล่าว


บทบาท กสอ. กับการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ 
มิติในการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เกิดขึ้นเมื่อ 72 ปีก่อน ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปตามสถานการณ์และสอดคล้องไปกับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมโดยครอบคลุมดูแลผู้ประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ และมีหน่วยงานย่อยที่เรียกว่าศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งหมด 11 ศูนย์ ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยอยู่ในเขตภาคเหนือ 3 ศูนย์ ภาคอีสาน 4 ศูนย์ ภาคตะวันออก 1 ศูนย์ ภาคตะวันตก 1 ศูนย์ และภาคใต้ 2 ศูนย์ ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งรูปแบบการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการนี้จะจัดทำโดยผ่านโครงการต่าง ๆ ตามความเหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม

สำหรับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อเข้าสู่การเป็นเออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น คาดการณ์ว่าพื้นที่ในแนวชายแดนไทย-ลาวจะได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงาน เงินทุน เสมือนฐานการผลิตเดียวกัน โดยจะลดอุปสรรคในด้านภาษีและกฎระเรียบทางด้านการส่งสินค้าระหว่างประเทศลง ซึ่งทางรัฐบาลได้เร่งผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคให้เกิดการขนส่งสินค้าซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงประเทศพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม ตามแนวคิดโครงการพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ซึ่งจะส่งผลให้โครงระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Economic Corridors) เกิดการค้าขาย การลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมบริการ และเกษตรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น จากการมีงานทำ อันเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น โดยที่ผ่านมา กสอ. มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบด้วยโครงการกว่า 40 โครงการ อาทิเช่น โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) โครงการพัฒนาความร่วมมือในระ
ดับห่วงโซ่อุปทาน โครงการเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรม (EDIPP) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นต้น

ในส่วนของโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กสอ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2523 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครอบคลุมทุกด้าน โดยใช้คนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และการสร้างนักธุรกิจที่พร้อมจะพัฒนาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมทั้งรู้หลักในการบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ SMEs สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ คพอ. คือมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน เปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน หรือผ่านเบ้าหลอมเดียวกัน ทำให้มีความผูกพัน และจริงใจในการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องส่วนตัวและธุรกิจ เกิดเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่และมีพลัง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 8,000 ราย

“นโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางกระแสของเออีซี เป็นเรื่องที่เราได้มีการเตรียมความพร้อมมานานแล้ว ซึ่งเมื่อพรมแดนทางการค้าได้ถูกเปิดออกอย่างเสรี มิติทางด้านการทำงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพวกเราเองจะต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ทางการค้า สถานการณ์ทางด้านการเมือง สถานการณ์ทางด้านสังคม ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทย ได้เตรียมความพร้อมทางด้านศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันเพื่อต่อสู้ในเวทีแห่งการค้าเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ได้” นายธนิตศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลอุตสาหกรรมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงรับคู่มือเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4414–18 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th