สนพ.จุดประกาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบใหม่ ใช้บริการรถสาธารณะ หวังลดใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ
สนพ. ปิ๊งไอเดีย เที่ยวไทยใช้บริการรถสาธารณะ จับมืออุทยานแห่งชาติ เร่งศึกษา การใช้รถสาธารณะในการเดินทาง ชูเขาใหญ่นำร่องแห่งแรก หวังลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้บรรยากาศธรรมชาติที่กลับมามีความสมบูรณ์มากขึ้น
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบันมีความผันผวน ทั้งจากเรื่องวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลก ความไม่สงบในประเทศอียิปต์ ฯลฯ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้พลังงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการใช้น้ำมันของประเทศไทยในปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้น้ำมันรวม 44,788 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 6.12% จากปี 2554 และจากสถิติปริมาณพาหนะของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่ามีพาหนะจดทะเบียนมากถึง 33,960,792 คัน*
ดังนั้น เพื่อให้เกิดตัวอย่างสำหรับการประหยัดพลังงานในการเดินทาง และลดปริมาณรถยนต์หนาแน่นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว สนพ. โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้การสนับสนุนอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อช.) ดำเนิน “โครงการศึกษาความเป็น ไปได้ในการใช้รถสาธารณะร่วมกันเพื่อจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว” โดยเริ่มจากอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่เป็นแห่งแรก ซึ่งในปี 2554 ที่ผ่านมา สถิติการใช้พาหนะส่วนตัวเพื่อมาท่องเที่ยว ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีจำนวน 185,372 คัน คิดเป็นอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันประมาณ 9.2 ล้านลิตร ก่อให้การเกิดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 28,136 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเป็นการรบกวนธรรมชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ศึกษารูปแบบรถสาธารณะที่เหมาะสมกับกิจกรรมท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ เพื่อประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาการรบกวนสัตว์ป่า โดยทาง อช. ได้ทดลองนำรถสาธารณะมาให้บริการในระยะทางเฉลี่ย 500 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ รถตู้โดยสารเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2,500 ซีซี ซึ่งผลการทดลองพบว่า สิ้นเปลืองน้ำมันดีเซล 57.34 ลิตรต่อเที่ยวต่อคัน เป็นเงิน 1,720 บาท* และรถตู้โดยสารเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2,700 ซีซี ที่ติดตั้งระบบใช้ก๊าซ NGV พบว่าสิ้นเปลืองก๊าซ NGV 74.96 ลิตรต่อเที่ยวต่อคัน เป็นเงิน 787 บาท*
จากการหารือกับ อช. พบว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความพร้อมที่จะให้บริการรถสาธารณะอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งเส้นทางสำหรับรถสาธารณะ และมีผู้ประกอบการรถสาธารณะที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จากการสอบถามความเห็นของนักท่องเที่ยวพบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวเห็นว่า หากมีบริการรถสาธารณะ โดยกำหนดเวลารถวิ่ง และค่าโดยสารที่เหมาะสม จะหันมาใช้บริการรถสาธารณะในการท่องเที่ยว และหากจำนวนนักท่องเที่ยว 50% ของจำนวนทั้งหมดหันมาเลือกใช้บริการถสาธารณะ จะช่วยประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และลดการรบกวนธรรมชาติด้วย” นายสุเทพ กล่าว