เนื้อหาวันที่ : 2013-08-15 10:12:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3619 views

ช.การช่าง ผนึกกำลัง ซีเค พาวเวอร์ สร้างเขื่อนน้ำบากในลาว มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

ช.การช่าง ลงนาม ซีเค พาวเวอร์ พัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำบาก ใน สปป. ลาว สัญญาพัฒนาโครงการ กับรัฐบาลลาว

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ช.การช่าง ได้บรรลุข้อตกลงในการลงนามพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำบาก ใน สปป. ลาว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมอบหมายให้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนาม สัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) กับรัฐบาลลาว

และจากนี้ไปจะเร่งรัดดำเนินการทำสัญญาซื้อขายไฟ และสัญญาก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยในส่วนของงานก่อสร้าง บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด จะว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจาก ช. การช่างเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศลาวมาแล้วเช่นเขื่อนน้ำงึม 2 และฝายน้ำล้นไซยะบุรี โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2557 และมีมูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างประมาณ 17,000 ล้านบาท

ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  โครงการเขื่อนน้ำบาก มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 160 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง  744 ล้านหน่วยต่อปีหรือประมาณ 50% ของเขื่อนภูมิพล ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง โครงการนี้ผลิต ไฟฟ้าด้วยพลังน้ำซึ่งเป็นพลังงานสะอาด หมุนเวียน เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และจะเสริมศักยภาพและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ CKP ในอนาคตโดยจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในพอร์ทของ CKP อีก 160 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับโครงการบางปะอินโคเจนเนอ์เรชั่นเฟส 2 อีก 120 เมกะวัตต์ในปี 2560 และโครงการไซยะบุรีอีก 1,285 เมกะวัตต์จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในพอร์ทของ CKP เติบโตจาก 754.5 เมกะวัตต์ ในปี 2556 เป็น 2,319.5 เมกะวัตต์ ในปี 2562

ในส่วนของโครงการที่เริ่มผลิตไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการเขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งเริ่มผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2554ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากเนื่องจากอยู่ในฤดูมรสุมทำให้ต้องผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังผลิตและโครงการโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอ์เรชั่นเฟส 1 กำลังการผลิต 117.5 เมกะวัตต์ ของ CKP ซึ่งเริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อ ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้ง 2 โครงการนี้จะหนุนรายได้ของ CKP ในปี 2556 ให้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เพื่อรองรับการเปิด AEC ในปี 2558 และการขยายธุรกิจของ CKP ให้เติบโตอย่างมั่งคงและยั่งยืน CKP กำลังศึกษาที่จะพัฒนาเขื่อนต่างๆในประเทศลาวเพิ่มเติมอีก รวมทั้งโรงไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง CKP มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมที่จะลงทุน ดำเนินการได้ทันที