เนื้อหาวันที่ : 2007-06-20 08:23:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1699 views

ค่ายรถมึนเงื่อนไขบีโอไอ "อีโคคาร์" ระบุแสนคันปีที่ 5 ทำยาก

ค่ายรถยนต์ คิดหนัก เงื่อนไข ส่งเสริมการลงทุน อีโคคาร์ ฮอนด้า ชี้ ข้อกำหนดผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 และอัตราการสิ้นเปลือง 20 กม./ลิตร เป็นการบ้านข้อใหญ่ ขณะโตโยต้า ถามหาตลาดส่งออกอยู่ที่ไหน ถือเป็นข้อกำหนดที่สร้างความหนักใจให้กับผู้ผลิตรถยนต์มากที่สุด

ค่ายรถยนต์ คิดหนัก เงื่อนไข ส่งเสริมการลงทุน อีโคคาร์ ฮอนด้า ชี้ ข้อกำหนดผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 และอัตราการสิ้นเปลือง 20 กม./ลิตร เป็นการบ้านข้อใหญ่ ขณะโตโยต้า ถามหาตลาดส่งออกอยู่ทีไหน

.

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" หลังจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ว่า เป็นเงื่อนไขที่มีความเป็นไปได้ และจะนำไปสู่การผลิตจริงได้

.

ทั้งนี้ เงื่อนไขหลักระบุว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องลงทุนทั้งประกอบรถยนต์ ผลิตเครื่องยนต์ และผลิตชิ้นส่วน วงเงินไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และจะต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลัก 4 ใน 5 รายการคือ ฝาสูบ เสื้อสูบ เพลาข้อเหวี่ยง เพลาลูกเบี้ยว และก้านสูบ มีการผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 โดยสิทธิพิเศษที่จะได้รับคือ การยกเว้นเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 8 ปี และอากรขาเข้าเครื่องจักรในทุกเขตที่ตั้ง 

.

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ข้อกำหนดขนาดการลงทุน ถือเป็นระดับที่อยู่กลางๆ ไม่มากเกินไปจนไม่สามารถลงทุนได้ และก็ไม่น้อยเกินไปจนทำให้ใครก็เข้าร่วมโครงการได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมพอควร ส่วนชิ้นส่วนที่ต้องผลิตนั้น แม้ปัจจุบันจะยังมีการผลิตที่ไม่แพร่หลายในประเทศไทย และส่วนใหญ่ทำในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล สำหรับรถปิกอัพ แต่ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะทำให้ไม่เป็นปัญหา เพียงแต่จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม

.

ในส่วนของเครื่องยนต์นั้นมองว่า การกำหนดให้ผลิตชิ้นส่วนใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ข้อกำหนดของกระทรวงการคลังที่ระบุให้รถต้องมีอัตราการสิ้นเปลือง 20 กิโลเมตร/ลิตร เนื่องจากตัวเลขในปี 2549 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีเครื่องยนต์ที่ผ่านคุณสมบัติดังกล่าวเพียงแค่ 5% เท่านั้น ขณะที่ เงื่อนไขการผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 ถือเป็นข้อกำหนดที่สร้างความหนักใจให้กับผู้ผลิตรถยนต์มากที่สุด

.
โตโยต้าถามหาตลาดส่งออก

ก่อนหน้านี้ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่โตโยต้าเป็นค่ายรถยนต์รายใหญ่ที่สุด พร้อมที่จะเดินหน้าโครงการอีโคคาร์ แต่เงื่อนไขในเรื่องปริมาณการผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5 อาจจะทำได้ยาก หากคิดง่ายๆ ว่ามีค่ายรถสนใจลงทุน 3 ราย ในปีที่ 5 ก็จะมีรถอีโคคาร์ 3 แสนคัน แต่ตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยทุกแบรนด์รวมกันตอนนี้อยู่ที่เกือบ 2 แสนคัน/ปี และโมเดลยอดนิยมอย่างโซลูน่าที่เป็นรถยนต์นั่งไซส์เล็กสุดของโตโยต้า ที่ทำตลาดมานานกว่า 10 ปี ยังทำได้เพียง 4-5 หมื่น คัน/ปี  อีกทั้งตลาดรถยนต์ขนาดเล็กสำคัญอย่างยุโรป ก็มีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และในอนาคตอันใกล้ก็จะนำมาตรฐานไอเสียยูโร 5 มาใช้ ขณะที่อีโคคาร์ทำได้แค่ยูโร 4 ดังนั้นคำถามที่ต้องคิดเผื่อสำหรับอีโคคาร์ด้วยคือตลาดส่งออกอยู่ที่ไหน

.

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงื่อนไของบีโอไอที่กำหนดเรื่องเงินลงทุน และจำนวนการผลิต 1 แสนคัน อาจจะเป็นปัญหาสำหรับอีโค คาร์ จากผลพวงของรถเล็กราคาถูกจากต่างประเทศได้ เนื่องจากช่วงนี้มีผู้สนใจจะนำรถเข้ามาทำตลาดในไทย และบางรายอาจจะเลือกใช้แหล่งผลิตในภูมิภาคอาเซียน เพื่อใช้สิทธิด้านภาษีนำเข้า 5% จากปกติ 80% สำหรับรถจากนอกกลุ่มอาเซียน

.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์