เนื้อหาวันที่ : 2013-07-30 15:52:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2001 views

เชียงใหม่ เปิดอบรม การผลิตก๊าซ CBG จากหญ้าเนเปียร์ ทดแทน NGV

สถาบันพลังงาน มช.เปิดอบรม การผลิตก๊าซ CBG จากหญ้าเนเปียร์ ทดแทน NGV 9 ส.ค.นี้

ถาบันพลังงาน มช. เชิญชวนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมอบรม "การผลิตก๊าซ CBG จากหญ้าเนเปียร์ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับประเทศไทย" ในวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2556 เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้องแกรนด์รูม ชั้น 4 อาคารสถาบันฯ รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอรณิชชา อาชีวะ โทรศัพท์ 0-5394-2007-9 ต่อ 312

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สถาบันพลังงาน มช.) จัดอบรม "การผลิตก๊าซ CBG จากหญ้าเนเปียร์ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับประเทศไทย" เพื่อให้ผู้เข้าอบรม มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำงานของเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 และนำไปสู่การพัฒนาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือที่เรียกว่า ก๊าซ CBG ด้วยวิธีดูดซึมด้วยน้ำ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทดแทนก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์ได้ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ จะนำคณะผู้อบรม ศึกษาดูงานการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 และระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด ณ สถานที่จริง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สถาบันพลังงาน มช.) ดำเนินงานโครงการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 10.7 ล้านบาท เพื่อศึกษาศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือที่เรียกว่า CBG โดยสถาบันพลังงาน มช.ได้มีการสำรวจข้อมูลและวิจัยหญ้าจำนวน 20 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศ

อาทิ หญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ พันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 พันธุ์บาน่า รวมถึง หญ้าขน หญ้าแฝก เพื่อศึกษาศักยภาพและสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพ ผลการวิจัยพบว่า หญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 ที่ปัจจุบันนิยมนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์นั้น มีผลผลิตต่อไร่สูงสุด โดยมีผลผลิตประมาณ 70 — 80 ตันสด/ไร่/ปี ซึ่งมากกว่าหญ้าชนิดอื่นเกือบ 7 เท่า

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น โดยมีอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพประมาณ 6,860 — 7,840 ลบ.ม./ไร่/ปี สามารถผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ได้ประมาณ 3,118 - 3,563 กก./ปี เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นก๊าซ CBG ซึ่งสามารถใช้ทดแทนก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์ได้ โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่า NGV สำหรับยานยนต์ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน ปัจจุบัน สถาบันพลังงาน มช. ยังทำการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพไปสู่พลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการการใช้พลังงานในรูปแบบใหม่และเกิดประโยชน์สูงสุด