การลงทุนระบบน้ำหากเนิ่นนานไปนักลงทุนจะไม่สบายใจ การขยายกำลังการผลิตและการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่จะมีความเสี่ยง และอาจทำให้ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นได้
ถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลกับภารกิจท้าทายของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะผลักดันพระราชกำหนดการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาท และพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ในมุมมองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจขอให้นึกถึงแง่มุมเศรษฐกิจด้วย เพราะจะส่งผลต่อการอยู่ดีกินดี การมีงานทำ และการเพิ่มรายได้ของประชาชน
นอกจากนี้ยังย้ำว่าการลงทุนระบบน้ำหากเนิ่นนานไปนักลงทุนจะไม่สบายใจ การขยายกำลังการผลิตและการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่จะมีความเสี่ยง และอาจทำให้ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นได้ สอดคล้องกับผู้ควบคุมนโยบายและปฏิบัติการลงทุนเมกะโปรเจกต์น้ำ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เร่งเซ็นสัญญาการลงทุนระบบน้ำ ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 เดือนจะทยอยเซ็นสัญญาจ้างเอกชนได้ โดยระบุว่า การลงทุนระบบน้ำทั้ง 9 แผนงาน (โมดุล) 2.84 แสนล้านบาท ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและชุมชน (เอชไอเอ) คือ การสร้างเขื่อน 20 แห่ง และการก่อสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตก
เพื่อให้การทำอีไอเอและเอชไอเอลุล่วง นายปลอดประสพกล่าวว่า อีไอเอ-เอชไอเอที่ทำไม่แตกต่างจากโครงการที่จะจ้างเอกชนก่อสร้างจะนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องทำใหม่ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญจะต้องแก้ไขจากนั้นเซ็นสัญญาได้เลย ส่วนระบบคลังข้อมูลที่ไม่ต้องทำอีไอเอจะเซ็นสัญญาเร็ว ๆ นี้ ทว่าการลงทุนระบบน้ำที่กำหนดเสร็จภายใน 5 ปีกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค ถูกตรวจสอบและสังคมจับตามอง โดยเฉพาะการทุจริตและการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า การลงทุนโครงการน้ำ เช่น การสร้างเขื่อนต้องอพยพคนออกจากพื้นที่หน้าเขื่อน แต่ประชาชนต่อต้านเพราะไม่ได้รับการเยียวยาหรือชดเชยตามที่ได้รับปากไว้ ประกอบกับไม่เชื่อมั่นว่าจะป้องกันน้ำท่วมได้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทช่วง 10 ปีไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่เมื่อเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์แต่กลับได้รับการต่อต้านทำให้รัฐต้องหันมาคิด เหตุผลหลักคือเรื่องความคุ้มค่า เพราะการกู้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาทเป็นภาระให้ต้องใช้หนี้เป็นเวลา 50 ปี เบียดบังงบประมาณลงทุนด้านอื่น โดยเฉพาะลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องการใช้เงินกู้ที่แฝงเร้นนอกเหนืองบประมาณปกติ ที่เปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่น
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า โครงการลงทุนภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมีเม็ดเงินกว่า 9 แสนล้านบาทที่ยังไม่ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แม้ฝ่ายรัฐบาลจะแก้ว่า ความคุ้มค่าจากค่าโดยสารเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งที่สร้างรายได้ให้โครงการคุ้มค่าคือ การพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงในหัวเมืองใหญ่ ทั้งเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้ภูมิภาค แต่มีคำถามว่า ผู้ที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไม่ใช่คนทั่วไป แต่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจะขัดต่อหลักการบริหารประเทศตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่
ข้อมูลข่าวและที่มา : สุริยน ตันตราจิณ / สำนักข่าวแห่งชาติ