เนื้อหาวันที่ : 2013-07-17 10:31:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1447 views

บมจ. ซีเค พาวเวอร์ เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 18 ก.ค. นี้

บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรูปแบบ Holding Company

บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรูปแบบ Holding Company ที่มีธุรกิจหลักในต่างประเทศเป็นบริษัทแรก 18 กรกฎาคม นี้ โดยมีบริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังน้ำ น้ำงึม 2 ในสปป.ลาว เป็นบริษทแกน หลังระดมทุน 2,340 ล้านบาท

นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) จะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 นี้ โดย CKP เป็น Holding Company ที่ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟจากพลังงานประเภทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนหลักในบริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสปป.ลาว ให้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำ ขนาด 615 เมกกะวัตต์ และมีสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนร่วมในประเทศไทย

CKP มีทุนชำระแล้ว 5,500 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 920 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 220 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 13 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 180 ล้านหุ้น มูลค่า 2,340 ล้านบาท และหุ้นสามัญเดิม จำนวน 40 ล้านหุ้น มูลค่า 520 ล้านบาท มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 2,860 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2556 โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด และบริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัดและบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมีโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

คุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า “การระดมทุนของบริษัทครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปขยายธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าและชำระคืนเงินกู้บางส่วน ทั้งนี้ CKP ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและมีรายได้ที่มั่นคงจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว บริษัทมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทในการรักษาสิ่งแวดล้อมและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม”

CKP มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 รายแรกหลัง IPO ได้แก่ บมจ. ช.การช่างถือหุ้น 31.78% บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ ถือหุ้น 23.22% และ บมจ. น้ำประปาไทย ถือหุ้น 25% ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน การกำหนดราคา IPO พิจารณาจาก อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 124.37 เท่า อัตราส่วนราคาปิดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV Ratio) เท่ากับ 1.28 เท่า

และอัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EV/EBITDA) เท่ากับ 15.42 เท่า ทั้งนี้ P/E Ratio คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ส่วน P/BV Ratio คำนวณจากมูลค่าทางบัญชีของบริษัทต่อหุ้นจากงบการเงินไตรมาสล่าสุด และ EV/EBITDA คำนวณจากจำนวณหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังการขายหุ้นในครั้งนี้ คูณกับราคา IPO บวกกับหนี้สินที่มีดอกเบี้ยของบริษัทหลังจากหักเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษี ซึ่งคำนวณจากผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการปรับโครงสร้างบริษัทย่อยในกลุ่มและบางกิจการที่บริษัทเข้าลงทุนเพิ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในช่วงระหว่างปี 2555 ดังนั้น กำไรสุทธิ และกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย

ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีของปี 2555 จึงยังไม่สะท้อนผลการประกอบการที่แท้จริงของแต่ละกิจการที่บริษัทเข้าลงทุน และกำไรสุทธิช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังของบริษัทอาจไม่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของงบการเงินเฉพาะบริษัทและหลังหักเงินสำรองตามกฎหมาย