ปี 2556 ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง
ปี 2556 ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 113 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากระดับ 107 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ คลี่คลายลง ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับตลาดมีความคาดหวังว่าผู้นำคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือน มี.ค. จะมีนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันการเปิดใช้ส่วนต่อขยายท่อส่งน้ำมัน Seaway ที่ขนส่งน้ำมันจากบริเวณคุชชิ่ง โอกลาโฮมาไปยังโรงกลั่นแถบอ่าวเม็กซิโกที่ทำให้กำลังการขนส่งเพิ่มขึ้น ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนราคาน้ำมันในช่วงต้นปี
ส่วนในช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่ 2 ราคาน้ำมันดูไบอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปที่ยังมีปัญหายืดเยื้อ หลังการเลือกตั้งครั้งแรกของอิตาลีล้มเหลวและไม่มีใครสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ และเมื่อธนาคารใหญ่อันดับที่ 2 ของไซปรัส ต้องเผชิญกับภาวะล้มละลาย ทำให้ตลาดกังวลว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปจะเป็นไปได้ช้าลง
ด้านเศรษฐกิจจีนก็ไม่เป็นไปดังคาด โดยเฉพาะภาคการผลิตเป็นเหตุให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปีนี้ลง ทั้งยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกของปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.3% จากระดับ 3.5% และปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้ลงด้วย
นอกจากนี้ทางสหรัฐฯ เอง แม้ว่าภาพรวมตลาดแรงงานและตลาดบ้านจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่กระแสข่าวของการยุติมาตรการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เร็วกว่ากำหนดทำให้ชาวอเมริกันกังวลว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ ปัจจัยเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีแรกปรับลดลง
ในส่วนของอุปทานน้ำมันดิบมีการขยายตัวมากกว่าอุปสงค์ ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิต Tight oil ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงต้นปี 56 เทียบกับปี 55 อย่างไรก็ตาม ความไม่ลงรอยกันบนคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ อิหร่าน ซูดาน-ซูดานใต้ ลิเบีย อียิปต์ และไนจีเรีย เป็นต้น ที่ทำให้การส่งออกน้ำมันของประเทศปรับลดลง ล้วนเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาปรับลดลงไม่มากนัก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปิดตลาดไตรมาส 2 ที่ระดับ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
สำหรับราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ไทยออยล์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงผันผวน จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและยุโรป รวมถึงการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯ หากตัวเลขเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องและความขัดแย้งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกในตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 95-105 เหรียญสหรัฐฯ บาร์เรล
เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและเศรษญกิจยุโรปที่ยังไม่ฟื้นส่งผลต่อการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลก
เศรษฐกิจของจีนยังคงเป็นที่กังขาว่าผู้นำคนใหม่ของจีนจะสามารถทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตตามเป้าหมายที่ 7.5% ได้หรือไม่ หลังธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มจะลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ขณะเดียวกัน ตลาดยังเฝ้าจับตามองการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่ายุโรปจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้หรือไม่
ความไม่แน่นอนของแผนการชะลอมาตรการ QE4 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิต ภาคแรงงาน การใช้จ่ายของชาวอเมริกัน หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศว่าอาจจะปรับลดจำนวนเงินมูลค่า 85,000 ล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ที่ใช้ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือ QE4 ลงในช่วงปลายปีนี้ และอาจยุติมาตรการดังกล่าวในช่วงกลางปีหน้า อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่าการชะลอมาตรการ QE4 ดังกล่าวอาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินเพื่อการลงทุนของสหรัฐฯ ขาดหายไปและอาจส่งผลให้มีการโยกย้ายเงินออกจากสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมัน
ความเสี่ยงของความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกับผลกระทบของอุปทานในภูมิภาค
เหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้แก่ตลาดอย่างต่อเนื่องว่าความวุ่นวายต่างๆ อาจลุกลามไปในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคและส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่มีอยู่มากเกือบ 40% ของการผลิตน้ำมันดิบโลก
อิหร่าน แม้ว่านายฮัสสัน รูฮานี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านจะเป็นผู้ที่มีแนวคิดเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ต่อชาติตะวันตกที่ไม่แข็งกร้าวนักและทำให้ตลาดคาดว่าการเปิดการเจรจากับชาติมหาอำนาจตะวันตกอาจมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่หลายฝ่ายยังคงมีความเห็นว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์จะยังคงเดินหน้าต่อไป
ซูดาน-ซูดานใต้ ความไม่ลงรอยกันเรื่องการเก็บภาษีการส่งอกน้ำมันระหว่างทั้งสองที่นำมาซึ่งการที่ซูดานประกาศปิดเส้นทางลำเลียงน้ำมันของซูดานใต้ ทำให้การส่งออกกว่า 350,000 บาร์เรลต่อวันอาจขาดหายไปภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ และยังไม่มีท่าทีว่าทั้งสองจะเจรจาแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ซีเรีย ความรุนแรงของการปะทะกันระหว่างรัฐบาลกับผู้ต่อต้านยังร้อนแรงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลซีเรียมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการต่อสู้สงครามกลางเมือง ทั้งยังประกาศว่าพร้อมให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี นานาประเทศนำโดยสหรัฐฯ และรัสเซียยังคงพยายามที่จะประชุมกันเพื่อหาทางยุติเหตุการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการประชุมในเดือน ส.ค. นี้
นอกจากนี้ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในลิเบีย ไนจีเรีย อียิปต์ เป็นต้น ยังคงสร้างความเสียหายแก่อุปกรณ์การผลิตและส่งออกน้ำมันของประเทศอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นช่วงที่ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 และฤดูหนาวในไตรมาสที่ 4 ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบในช่วงไตรมาสที่ 3 ถือเป็นฤดูกาลเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่อาจกระทบกำลังการผลิตในอ่าวเม็กซิโกซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี ตลาดคงต้องจับตาว่าโอเปกจะแสดงบทบาทในการจัดการโควต้าการผลิตของกลุ่มอย่างไรเพื่อรักษาราคาน้ำมันไว้ที่ระดับ 100 เหรียญฯ ตามที่ได้กล่าวไว้ ในช่วงเวลาที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกกำลังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง