กระทรวงพลังงาน คุมเข้มไอน้ำมันในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ 23 เขต รวม 273 ปั๊ม เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนเมือง และคืนสภาพอากาศที่ดีให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่ กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงานได้ออกกฎกระทรวงเพื่อควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 1) เพื่อควบคุมไอน้ำมันเบนซินระดับที่1 ซึ่งระเหยจากสถานีบริการน้ำมัน คลังน้ำมัน และรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 เพื่อกำหนดให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินระดับที่ 2 ซึ่งระเหยจากถังน้ำมันของรถยนต์ที่เข้าไปเติมน้ำมัน โดยบังคับใช้ในพื้นที่ใจกลาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 23 เขต ภายใน 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการใหม่ และภายใน 1 ปี กับผู้ประกอบการรายเดิม |
. |
ทั้งนี้ เนื่องจาก กทม.มีปัญหาคุณภาพอากาศรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง จะมีปัญหารุนแรงสุด เพราะมีความหนาแน่นของประชากร และการสะสมของมลพิษ เนื่องจากมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันและประกอบธุรกิจจำนวนมาก โดยมีปริมาณโอโซนเกินมาตรฐาน 188 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) จากปกติค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 100 ppb |
. |
กระทรวงพลังงานจึงเห็นว่า มีความจำเป็นต้องบังคับใช้ระบบการควบคุมไอน้ำมันระดับที่ 2 ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนเมือง และคืนสภาพอากาศที่ดีให้แก่ประชาชน โดยขจัดไอน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ทำให้เกิดโอโซน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ นายเมตตากล่าว |
. |
สำหรับเขตพื้นที่ กทม. ทั้ง 23 เขต ประกอบด้วย 1. เขตคลองเตย 2. เขตคลองสาน 3. เขตจตุจักร 4. เขตจอมทอง 5.เขตดินแดง 6. เขตดุสิต 7. เขตธนบุรี 8. เขตบางกอกน้อย 9. เขตบางกอกใหญ่ 10. เขตบางคอแหลม 11. เขตบางซื่อ 12. เขตบางพลัด 13. เขตบางรัก 14. เขตปทุมวัน 15. เขตป้องปรามศัตรูพ่าย 16. เขตพญาไทย 17. เขตพระนคร 18. เขตยานนาวา 19. เขตราชเทวี 20. เขตราษฎร์บูรณะ 21. เขตวัฒนา 22.เขตสัมพันธวงศ์ และ 23. เขตสาทร โดยทั้ง 23 เขตจะมีสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้น 273 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของจำนวนปั๊มทั้งหมดในกรุงเทพฯ 788 แห่ง แบ่งเป็น ปตท. 50 แห่ง เชลล์ 67 แห่ง เอสโซ่ 43 แห่ง เชฟรอน 44 แห่ง บางจาก 32 แห่ง ปิโตรนาส 17 แห่ง ซัสโก้ 3 แห่ง คอสโม่ 1 แห่ง ทีพีไอ 3 แห่ง เจ็ท 2 แห่ง เอ็มพี 2 แห่ง และปั๊มอิสระ 9 แห่ง |