เนื้อหาวันที่ : 2013-06-20 14:43:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1414 views

บีโอไอเผยยอดขอส่งเสริม 5 เดือนมูลค่าลงทุนขยายตัว 70%

เดือนมูลค่าลงทุนขยายตัว 70% กลุ่มบริการ สาธารณูปโภค ยานยนต์ ชิ้นส่วน ลงทุนเพิ่มหลายเท่าตัว

บีโอไอเผยสถิติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 5 เดือน มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 564,800 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 70 โดยกลุ่มบริการและสาธารณูปโภคจ่อขยายลงทุนมากที่สุด ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน โลหะ และเครื่องจักร ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 24 ญี่ปุ่นรั้งอันดับหนึ่งลงทุนในไทย

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมช่วง 5 เดือน ( มกราคม – พฤษภาคม 2556 ) ที่ผ่านมาว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 919 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 564,800 ล้านบาท จำนวน  โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มี 779 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555

สำหรับกิจการที่ได้รับความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในช่วง 5 เดือน คือการลงทุนในกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 215 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 260,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 224 หรือกว่า 2 เท่าตัว โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ 15 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 160,000 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการลงทุน 34,000 ล้านบาทกิจการท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ลงทุนประมาณ 21,000 ล้านบาท กิจการเขตอุตสาหกรรม 5 โครงการ ลงทุนประมาณ 9,100 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 2 โครงการ ลงทุนประมาณ7,300 ล้านบาท กิจการศูนย์กระจายสินค้า 6 โครงการ ลงทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท กิจการโรงแรม 2 โครงการ ลงทุนประมาณ 2,800 ล้านบาท เป็นต้น

รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ยานยนต์ และชิ้นส่วน มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 196 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 136,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 108 หรือกว่า 1 เท่าตัวโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ลงทุน 33,000 ล้านบาท กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและโลหะปั๊มขึ้นรูป 3 โครงการ ลงทุน 24,200 ล้านบาท กิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล มูลค่าลงทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท กิจการประกอบรถกระบะ ลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท กิจการผลิตแม่พิมพ์ 2 โครงการ ลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท และกิจการผลิตชิ้นส่วนประเภทต่างๆ รวม 6 โครงการ ลงทุนรวมประมาณ 18,000 ล้านบาท

อันดับสาม เป็นการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากกลุ่มเกษตรกรรม และผลผลิตจากการเกษตร มีจำนวน 237 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 91,900 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 230 หรือกว่า 2 เท่าตัวโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ 4 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 8,100 ล้านบาท กิจการผลิตยางแท่งและยางผสม 10 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็ง 6 โครงการ ลงทุน 7,000 ล้านบาท กิจการผลิตแป้งและแป้งแปรรูป จำนวน 8 โครงการ ลงทุนรวมประมาณ 5,600 ล้านบาท กิจการผลิตน้ำมันจากปาล์มและรำข้าว 4 โครงการ ลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท กิจการห้องเย็นและรถห้องเย็น 8 โครงการ มูลค่าลงทุน 3,700 ล้านบาท กิจการผลิตผงชูรส เงินลงทุน 3,500 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารสัตว์ 4 โครงการ ลงทุน 4,100 ล้านบาท และกิจการเลี้ยงสัตว์ 3 โครงการ ลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ สถิติขอรับส่งเสริมในช่วง 5 เดือน พบว่าเป็นการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ (Foreign Direct Investment: FDI) จำนวน 526 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 255,848 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจำนวนโครงการจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.8 แต่มูลค่าเงินลงทุนกลับพบว่าขยายตัวร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2555 ที่ผ่านมา

โดยนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุดยังคงเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 282 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 167,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันดับสองคือ มาเลเซีย ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 156 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 16,850 ล้านบาท อันดับสามฮ่องกง ยื่นขอรับส่งเสริม 14 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 15,246 อันดับสี่สิงคโปร์ ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 33 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,4802 ล้านบาท อันดับห้า โครงการลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 9,112 ล้านบาท