สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางด้านราคาไฟฟ้า ในอนาคต
ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยหลังจากการเดินทางไปศึกษาดูงานพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานด้านพลังงาน ณ ประเทศนอร์เวย์ ว่า การวางแผนจัดการพลังงานที่ดีนำมาสู่ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศนอร์เวย์ ถึงแม้ว่านอร์เวย์จะเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 8 ของโลก และส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ตาม แต่กลับใช้พลังงานน้ำเป็นกำลังหลักในการผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 95 และแม้ว่า “น้ำ” จะจัดเป็นพลังงานหมุนเวียนต้นทุนถูก แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องปริมาณน้ำตามฤดูกาลที่ไม่แน่นอนในแต่ละช่วงเวลา
ซึ่งนอร์เวย์ก็มีการแก้จุดอ่อนในข้อนี้โดยเสริมหนทางในการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติอีก 4% และจากพลังงานลมอีก 1% ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดแรกที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเรื่องการจัดการพลังงานของนอร์เวย์ได้เป็นอย่างดี โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลที่อาจจะหมดไปได้ในอนาคต และปรับการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับประเทศแทน
แต่สำหรับประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรด้านพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งยังต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และยังคงมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ากว่า 70% จึงนับเป็นความเสียงด้านวิกฤตพลังงาน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หยุดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซยาดานาในประเทศพม่า ซึ่งเกือบจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตไฟฟ้าในช่วงกลางเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมาเป็นต้น
ดังนั้น การกระจายแหล่งพลังงานให้มีความสมดุล โดยไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากจนเกินไปตลอดจนมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงระบบโครงข่ายพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของของประเทศมากยิ่งขึ้น “นอกจากนั้น ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติจากพม่าก็ไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า จำเป็นต้องซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาก ส่งผลให้ค่าเอฟทีมีราคาสูงตามราคาเชื้อเพลิง ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางด้านราคาไฟฟ้า ในอนาคต กกพ.จึงอยากเห็นประเทศไทยมีการกระจายแหล่งพลังงานไปใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆด้วย อาทิ ถ่านหินสะอาด เป็นต้น” ดร.พัลลภากล่าว