เนื้อหาวันที่ : 2013-06-07 13:34:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1444 views

เจ็ทสตาร์เผย เครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำแรกอยู่ในระหว่างการประกอบขั้นตอนสุดท้าย

มุ่งให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศออสเตรเลียในระยะแรก ตามด้วยเส้นทางบินระหว่างประเทศในอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารของเจ็ทสตาร์ได้เดินทางไปยังเมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา เพื่อเยี่ยมชมการติดตั้งอุปกรณ์ชายปีกหลัง (Trailing edge components) บนปีกของเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ลำแรกของเจ็ทสตาร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการประกอบขั้นตอนสุดท้าย และพร้อมส่งมอบในช่วงปลายเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

สำหรับอุปกรณ์ชายปีกหลังดังกล่าวผลิตจากโรงงานในเมืองเมลเบิร์นของบริษัท โบอิ้ง แอโรสตรัคเจอร์ส ออสเตรเลีย ทั้งนี้ เจ็ทสตาร์จะนำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำใหม่ดังกล่าวขึ้นจดทะเบียนรับรองมาตรฐานความปลอดภัยกับองค์การรักษาความปลอดภัยทางการบินพลเรือนในประเทศออสเตรเลีย (Civil Aviation Safety Authority หรือ CASA) ก่อนนำออกให้บริการในเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ นับเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำแรกที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการจดทะเบียนรับรองมาตรฐานความปลอดภัยดังกล่าวถือเป็นข้อกำหนดที่เครื่องบินใหม่ทุกลำต้องปฏิบัติตาม

เจ็ทสตาร์เตรียมนำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่ออกให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศก่อนนำเข้าสู่ตลาดการบินระหว่างประเทศตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยเส้นทางบินภายในประเทศที่จะให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่ดังกล่าว  อาทิ เส้นทางบินระหว่างโกลด์โคสท์ – แคร์นส์ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในขณะนี้

มร.มาร์ค ดัล ปรา ผู้อำนวยการโครงการโบอิ้ง 787 ของเจ็ทสตาร์ เผยว่า “ด้วยแผนการบินภายในประเทศดังกล่าวจะช่วยให้ผู้โดยสารชาวออสเตรเลียมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การบินกับเครื่องบินโบอิ้ง 787 สุดล้ำได้มากขึ้น โดยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำแรกนี้จะเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 เพียงลำเดียวที่ให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศก่อนเข้าร่วมให้บริการในเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารชาวออสเตรเลียจำนวนหลายแสนคนได้สัมผัสเครื่องบินใหม่ดังกล่าว”

“ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีการบินอันล้ำสมัย จะทำให้เครื่องบิน 787 สร้างสรรค์สุดยอดประสบการณ์ การเดินทางเหนือระดับให้แก่ผู้โดยสาร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำแรกดังกล่าวใกล้จะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์” มร.ดัล ปรา กล่าวเสริม

สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่มีฟีทเจอร์ที่โดดเด่น ดังนี้

• ติดตั้งอุปกรณ์ระบบสาระบันเทิงรุ่น eX2 ของพานาโซนิคที่มาพร้อมกับระบบวิดีโอออนดีมานด์และเกมสุดมันส์ในทุกที่นั่ง เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินทาง
• มีระบบ chat พร้อมด้วยระบบเชื่อมต่อ USB และระบบไฟประจำแต่ละที่นั่งทั้งในชั้นธุรกิจและประหยัด
• ขยายหน้าต่างในห้องโดยสารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีระบบปรับความสว่างของแสงไฟแบบอิเล็กทรอนิกส์
• ภายในห้องโดยสารมีอากาศบริสุทธ์ยิ่งขึ้น และมีระดับความชื้นเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดอาการเมาเครื่องและความอ่อนเพลียจากการเดินทาง
• ด้วยเทคโนโลยีขับเคลื่อนการบินอย่างราบรื่นมากขึ้น จะช่วยลดปัญหาด้านเสียง โดยจะมีเสียงเงียบกว่าเครื่องบินรุ่นอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน
• ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะมีขนาดใหญ่ขึ้น
• เบาะโดยสารหุ้มหนังทุกที่นั่ง

ทั้งนี้ แควนตัส กรุ๊ปเตรียมลงทุนกว่า 100 ล้านเหรียญออสเตรเลียเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการปฏิบัติงานของเครื่องบินดรีมไลเนอร์ โดยจะมีการว่าจ้างพนักงานใหม่อีก 100 ตำแหน่ง ขณะนี้ การฝึกอบรมวิศวกรและนักบินเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโบอิ้ง 787  รุ่นแรกได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเจ็ทสตาร์เตรียมเปิดอบรมวิศวกรและนักบินรุ่นใหม่ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ เจ็ทสตาร์ยังเตรียมจัดฝึกอบรมพนักงานประจำห้องโดยสารจำนวนกว่า 6,000 คนบนเครื่องบินใหม่ดังกล่าวอีกด้วย

ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสุดล้ำ เครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และมีสมรรถนะการบินที่ดีขึ้น โดยประหยัดน้ำมันได้สูงถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นอื่นๆ

“ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดังกล่าว ทำให้เจ็ทสตาร์มีต้นทุนต่อหน่วยปฏิบัติการ (Operating unit cost) ลดลง ซึ่งทำให้เราสามารถรักษาสมรรถนะในการมอบประสบการณ์การเดินทางเหนือระดับที่ให้ความสะดวกสบายบนเครื่องที่ดีเยี่ยมด้วยค่าโดยสารราคาประหยัดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น” มร.ดัล ปรา กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ เจ็ทสตาร์เตรียมนำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่จำนวน 14 ลำออกให้บริการในเส้นทางบินระยะไกล แทนฝูงบินแอร์บัส เอ330 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในจำนวนนี้ จะประกอบด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่จำนวน 3 ลำ ที่เจ็ทสตาร์จะรับมอบในปลายปีนี้ และภายในปี 2558 เจ็ทสตาร์จะมีฝูงบินระยะไกลเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใหม่ทั้งหมด ปัจจุบัน เจ็ทสตาร์ให้บริการเที่ยวบินระยะไกลจากออสเตรเลีย ไปยังบาหลี ภูเก็ต กรุงเทพฯ โฮโนลูลู โตเกียว  โอซาก้า และสิงคโปร์ และจากสิงคโปร์ไปยังปักกิ่ง โอซาก้า และอ็อคแลนด์