ปตท.จับมือ บริษัท รุคส์โฮม จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินโครงการการตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้ NGV ในเรือเฟอร์รี่ หนุนผู้ประกอบมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันมากขึ้น
ปตท.จับมือ บริษัท รุคส์โฮม จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินโครงการการตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้ NGV ในเรือเฟอร์รี่ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่ ทำการดัดแปลง/ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน ในภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์น้ำมันตลาดโลก |
ปตท. จำกัด (มหาชน) นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินโครงการติดตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้ NGV ในเรือเฟอร์รี่ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ กับ บริษัท รุคส์โฮมส์ จำกัด ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่ ที่ท่าเรือเซ็นเตอร์พอยท์ จังหวัดตราด โดย พลตำรวจตรี เจริญ โชติดำรงค์ ประธานกรรมการ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่ ทำการดัดแปลง/ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน ในภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์น้ำมันตลาดโลก |
สำหรับสาระสำคัญในบันทึกความร่วมมือ มีดังนี้ บริษัท รุคส์โฮมส์ จำกัด จะนำเรือเฟอร์รี่ จำนวน 1 ลำ มาทดลองดัดแปลงเป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงร่วมในระบบ Diesel Dual Fuel หรือ DDF เพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และ ปตท. จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ในเรือเฟอร์รี่ ดังกล่าว ให้แก่ บริษัท รุคส์โฮมส์ จำกัด ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือวงเงินไม่เกิน 600,000 ( หกแสนบาทถ้วน ) รวมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติ (NGV) เพื่อใช้ในการทดลองตั้งแต่เริ่มโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการ รวมระยะเวลาประมาณ 3 เดือน |
นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ปตท. เปิดเผยว่า หากความร่วมมือกันระหว่าง ปตท. และ บริษัท รุคส์โฮมส์ จำกัด ในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่อื่น ๆ สามารถนำเรือเฟอร์รี่ในสังกัดมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ เบื้องต้นจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ นำเรือเฟอร์รี่เข้าทำการดัดแปลง/ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลทั้งหมด ( Dedicated ) จำนวนทั้งหมด 3 ลำ ภายในปี 2549 ซึ่งจะทำให้ประเทศลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ปีละ 770,000 ลิตร คิดเป็นเงินประมาณ 16 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่อื่น ๆ จะทยอยนำเรือเฟอร์รี่ในสังกัดมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าเชื้อเพลิงได้เพิ่มมากขึ้น |