วางโรดแมปขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
รองนายกฯเดินหน้าเวิร์คชอปดึงทุกหน่วยงานร่วมมือวาง 'โรดแมป' ป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังพบชาวบ้านในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันจำนวนมาก เร่งจัดทำแผนพลังงานจังหวัด พร้อมทบทวนกฎหมายคุมเข้มการออกใบอนุญาต ปรับผังเมืองเว้นระยะห่างพื้นที่ก่อสร้างกับชุมชน เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. เร็วๆนี้
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ เรื่อง "การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล" ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพ เข้าร่วม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวะพลังงานไทย นักวิชาการด้านพลังงานและกฎหมาย ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายปลอดประสพ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้เป็นไปตามมติคสช.เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ ที่ให้ระดมความคิดเห็นเพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำโรดแมปในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวลไปสู่ภาคปฏิบัติ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคสช.และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมา มีการศึกษาพบว่าการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกระบวนการจัดการและควบคุมมลพิษไม่ดีพอ ก่อให้เกิดสารหรือฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลในปัจจุบันให้มีความรัดกุมเพียงพอ
ที่ประชุมวันนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีและมีความคืบหน้าในการดำเนินการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ ขอให้ทุกฝ่ายถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน และต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย ”
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลถือเป็นนโยบายหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนด้านพลังงานของประเทศ และช่วยลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจ แต่หากกระบวนการเผาทำลายของโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ดีพอ ก็อาจเกิดมลพิษ ทั้งนี้ควรมีการการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีเตาเผาชีวมวลในประเทศไทย โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย หรือ จีน หรือพื้นที่ในประเทศไทยที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถดำเนินงานร่วมกับชุมชนได้ดี ว่ามีรูปแบบในการพัฒนาอย่างไรที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งศึกษาการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และโรงงานใหม่ที่กำลังก่อสร้างว่าได้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษมากน้อยเพียงใด
ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและการใช้ไฟฟ้าใน ๑๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำปาง อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ชัยภูมิ อุดรธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และชุมพรให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน เพื่อนำไปสู่การจัดการจัดทำแผนพลังงานและแผนแม่บทพลังงานชีวมวลจังหวัด โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ในการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนแม่บทพลังงานชีวมวลของแต่ละจังหวัด กำหนดจะเริ่มต้นจาก ๑๑ จังหวัดที่มีการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี เชียงราย ปราจีนบุรี สระแก้ว ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง กระบี่และสตูล
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับปรุงบัญชีประเภทกิจการ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันกำหนดให้โรงไฟฟ้าทุกประเภทจัดอยู่ในบัญชีเดียวกัน กลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมายในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และกรมโยธาและผังเมือง ร่วมกันหาข้อสรุปในการแยกประเภทกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลออกมาให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐาน การอนุญาต การประเมินผลกระทบ และการกำหนดโซนนิ่งพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในผังเมือง ไม่ให้กระทบต่อวิถีชุมชนและเกษตรกรรม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รายงานว่าได้จัดทำแนวทางในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
ขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำการศึกษาสถานะสุขภาพของชุมชน บริเวณโรงไฟฟ้าชีวมวล ในจังหวัดสุพรรณบุรีและอุบลราชธานี ทำให้ทราบถึงผลกระทบในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสาธารณสุข เพื่อกำหนดเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ต่อไป โดยจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ก่อนออกประกาศกระทรวงเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของการบังคับใช้กฎหมาย และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ และจัดเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหากมีปัญหาเกิดขึ้นด้วย
สำนักงานคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการพัฒนานโยบายสาธารณเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กำลังจัดทำคู่มือและแนวทางการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยแพร่และสร้างความเข้าใจต่อประชาชน รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ทั้งก่อนการอนุญาต การติดตามตรวจสอบ และการเฝ้าระวัง เพื่อให้การอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นไปอย่างรอบคอบ สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน