เนื้อหาวันที่ : 2013-05-23 11:19:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1659 views

พงษ์ศักดิ์ เร่งแก้ไขวิกฤตไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว

สั่งหาข้อเท็จจริง ขอโทษประชาชนชาวใต้กับเหตุสุวิสัยที่เกิดขึ้นเผยไฟดับเป็นวงกว้างครั้งนี้พร้อมจะดูแลอย่างดีที่สุดโดยจะนำมาวิเคราะห์แผนวางในการรับมือทั้งระยะสั้นและในอนาคต

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีกระแสไฟฟ้าดับ เป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดนั้นก่อนอื่นคงจะต้องขอโทษกับพี่น้องประชาชนชาวใต้ที่ต้องได้รับผลกระทบ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขเร่งด่วนจนสามารถทยอยจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมดตั้งแต่เวลา 23.45 น พร้อมกันนี้ตนได้สั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป “ยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ซึ่งจะได้มีการนำบทเรียนครั้งนี้มาศึกษาที่จะหาแนวทางป้องกันปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับสาเหตุไฟฟ้าดับครั้งนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีสาเหตุเกิดจากการขัดข้องของระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ ซึ่งสายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 วงจร คือ สาย 500 KV จำนวน 2 วงจร และสาย 230 KV จำนวน 2 วงจร โดยในช่วงเช้าของ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 กฟผ. ได้ได้ปลดสายส่ง 500 KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง ในช่วงเย็น สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จึงทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินพิกัดส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ

จากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีสูงถึง 2200 MW ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้มีกำลังการผลิตเพียง 1600 MW ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างตั้งแต่เวลาประมาณ 18.52 น. ของ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556

สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ กฟผ.ได้เร่งการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ จะเห็นว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีกำลังการผลิตเพียง 2,000 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการใช้สูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกอย่างน้อย 500 เมกะวัตต์ที่ขาด จะต้องพึ่งการผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางส่งเข้าไป