เนื้อหาวันที่ : 2007-06-14 08:49:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1824 views

ก.พลังงาน ไอเดียเจ๋งวางเป้าเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน

กระทรวงพลังงาน เตรียมส่งเสริมพลังงานทดแทนมิติใหม่ วางเป้าเปลี่ยนขยะพลาสติกกว่า 10 ล้านตัน เป็นน้ำมันดิบ ทดแทนการนำเข้า 5 - 7 % พร้อมนำร่องจังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก คาดสิ้นปี 50 เริ่มผลิตได้ ลดปัญหาขยะพลาสติกที่ต้องรอคอยการย่อยสลายนานนับร้อยปี

ก.พลังงาน  ส่งเสริมพลังงานทดแทนมิติใหม่  วางเป้าเปลี่ยนขยะพลาสติกกว่า 10 ล้านตัน  เป็นน้ำมันดิบ ทดแทนการนำเข้า 5 - 7 %  พร้อมนำร่องจังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก  คาดสิ้นปี 50 เริ่มผลิตได้

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้ส่งเสริมโครงการนำร่องการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน (Polymer Energy) โดยได้รับความร่วมมือในระดับไตรภาคี ได้แก่  ภาครัฐ  ภาคเอกชน  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนชนิดใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะนำขยะประเภทพลาสติก ซึ่งตกค้างอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศประมาณ 10 ล้านตัน และจากขยะพลาสติกรายวันอีก 2.7 ล้านตันต่อปี ให้เป็นพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง  ซึ่งจะทดแทนการนำเข้าได้ประมาณ 5 – 7 %  และนอกจากจะช่วยกำจัดขยะอันก่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนทั้งระยะสั้น และยาวอีกด้วย

.

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานศึกษาและสนับสนุนการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน และได้มีการคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ และสถานที่ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ  เพื่อทดลองนำโครงการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นพลังงาน  ด้วยกระบวนการนำโมเลกุลของพลาสติกที่แตกตัว และมาเรียงเป็นลำดับใหม่ ให้มีคุณลักษณะคล้ายน้ำมันดิบมากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายแล้วในทวีปยุโรป มาทดสอบใช้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย เพื่อศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านระบบบริหารจัดการ รวมทั้งรณรงค์ให้คัดแยกขยะเพิ่มขึ้นในชุมชน  และสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 จังหวัดได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง ที่กระทรวงพลังงานจะเข้าไปสนับสนุนด้านวิชาการต่อไป

.

ส่วนรายละเอียดของการแปรรูปขยะพลาสติก เพื่อเป็นน้ำมันดิบนั้น จะต้องใช้วัตถุดิบ(ขยะพลาสติก) ประมาณ 6 ตันต่อวัน  เพื่อผลิตเป็นน้ำมันดิบได้ 4,500 ลิตรต่อวัน ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานแล้ว ในขบวนการแยก ก็ยังจะได้ปุ๋ยอินทรีย์หรือดินบำรุง ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน อีกด้วย และหากได้รับความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นทุกแห่งอย่างจริงจัง ก็จะทำให้นำขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่มาผลิตเป็นน้ำมันดิบได้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันได้ไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านบาท 

.

"ต่อไปนี้ ปัญหาขยะพลาสติกที่ต้องรอคอยการย่อยสลายนานนับร้อยปี ก็จะมีแนวทางการจัดการที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  โดยบ่อขยะที่เคยสร้างปัญหา จะกลายเป็นพลังงานที่มีค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับท้องถิ่นที่เคยมีปัญหาการจัดการขยะ ที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

.

นายอนุวัฒน์  เมธีวิบูลวุฒิ  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ  กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดฯได้พยายามหาแนวทางจัดการขยะวันละ 1,800 ตัน เช่น ใช้ระบบเตาเผาเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า การคัดแยกทำปุ๋ยอินทรีย์  และการที่จังหวัดเป็นโครงการนำร่องแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน นับเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งขั้นตอนต่อไป จะต้องเร่งสร้างโรงงานและเตรียมวัตถุดิบ คือขยะพลาสติกไว้ โดยคาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ จะสามารถผลิตน้ำมันได้ และจะได้มีการหารือกับบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)ในการรับซื้อต่อไป