เนื้อหาวันที่ : 2007-06-12 14:09:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1633 views

ซันเทคนิคส์ เตรียมรุกตลาดพลังงานหมุนเวียนเต็มสูบ

ซันเทคนิคส์ หนึ่งในผู้นำด้านระบบพลังงานหมุนเวียนแบบเบ็ดเสร็จ เดินเครื่องบุกตลาดพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มสูบ พร้อมกับการผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเกิดผลในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

.

ซันเทคนิคส์ หนึ่งในผู้นำด้านระบบพลังงานหมุนเวียนแบบเบ็ดเสร็จ (turn key) เปิดสำนักงานแห่งแรกในประเทศไทยที่อาคารโกลเด้นแลนด์ ซอยมหาดเล็กหลวง 1 ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลไทยดันแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนผสมในพลังงานหลักเป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2554 ในโอกาสนี้ ซันเทคนิคส์ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านระบบพลังงานหมุนเวียนประสิทธิภาพสูง ทั้งในด้านวิศวกรรมและการบริการ ด้วยการติดตั้งกังหันลม (wind turbine) ที่พระตำหนักสวนจิตรลดา ย้ำพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตด้านพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนกว่าให้กับประเทศไทย  

.

ดาเนียล แกฟเคอ                             โอลิเวอร์ ริสเซ่

                               ผู้จัดการตลาดประเทศไทย
.

เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีอยู่จำกัด ขณะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายิ่งถีบตัวสูงขึ้น ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดไร้มลพิษเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในอนาคต รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จึงพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสาะหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน มีความเป็นไปได้ในแง่เทคโนโลยี และสามารถพัฒนาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย พลังงานหมุนเวียนถือเป็นคำตอบหนึ่งในการกำหนดอนาคตด้านพลังงานของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก การตั้งสำนักงานในประเทศไทยจะช่วยให้ซันเทคนิคส์สามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ความมุ่งมั่นของซันเทคนิคส์ในการผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเกิดผลในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

.

สเตฟาน มูลเลอร์ กรรมการผู้จัดการของซันเทคนิคส์ ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ความสำเร็จในการขยายตลาดมายังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของซันเทคนิคส์เป็นผลมาจากปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่ว่า เราต้องทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้รู้ความต้องการที่แท้จริง ทั้งนี้ เราสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่แตกต่างกันได้ไม่เฉพาะแต่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่เรายังนำเสนอความเป็นมืออาชีพและความรวดเร็วในการให้บริการระบบพลังงานหมุนเวียนที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงใช้งานได้ดีและให้ผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นทางออกของปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเนื่องจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย และที่สำคัญอีกประกาศหนึ่ง คือ ช่วยลดภาระจากราคาน้ำมันและลดการพึ่งพาพลังงานหลักที่มีปริมาณเหลือน้อยลงทุกที     

.

ซันเทคนิคส์เป็นที่รู้จักดีในตลาดพลังงานผสม (hybrid) ที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (off-grid) และพลังงานชีวภาพ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในด้านพลังงาน หลังจากที่รัฐบาลไทยมีแผนให้เงินทุนอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โครงการดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในปี 2551 และคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2553 ได้ราวร้อยละ 50 ด้วยกำลังการผลิตกว่า 30 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ DuPont ระบุว่า เฉพาะในส่วนของพลังงานจากชีวมวล ไทยมีศักยภาพที่จะผลิตได้มากกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นชนิดที่ซันเทคนิกส์มีความถนัดอยู่แล้ว   

.
ซันเทคนิคส์ติดตั้งกังหันลม (wind turbine) แบบเบ็ดเสร็จ ชนิดที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (off-grid) ณ พระตำหนักสวนจิตรลดา
.

.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้แทน จากซันเทคนิคส์ ประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ซันเทคนิคส์ วินด์ เทอร์ไบน์ (SWT) ซึ่งเป็นกังหันลมขนาดเล็ก เพื่อนำไปติดตั้งในพระตำหนักสวนจิตรลดา อันเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะมีส่วนร่วมสร้างอนาคตด้านพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนกว่าให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา

.

กังหันลมขนาดเล็กรุ่นดังกล่าว ซึ่งเคยได้รับรางวัลด้านการออกแบบและเทคโนโลยีเชิงนิเวศจากยุโรป ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำไปใช้ผลิตพลังงานในพื้นที่ห่างไกลจากระบบสายส่งไฟฟ้า และเหมาะที่จะติดตั้งควบคู่กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานแบบ stand-alone โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือมากถึง 65,700 กิโลวัตต์ ขึ้นอยู่กับความเร็วลมเฉลี่ยในเขตกรุงเทพฯ สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเก็บไว้ในแผงแบตเตอรี่ 

.

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าท่ามกลางความเร็วลมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและสภาพอากาศ กังหันลมรุ่นนี้มีระบบควบคุมทิศทางเพื่อปรับองศาของใบพัด เมื่อความเร็วลมเพิ่มขึ้น กลไกของระบบควบคุมพิเศษนี้จะหันใบพัดอย่างต่อเนื่องไปตามทิศทางลมที่มีความเร็วเปลี่ยนไป ทำให้ได้ปริมาณกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ระดับความเร็วลม 40 เมตร/วินาที เมื่อเทียบกับกังหันทั่วไป ระบบควบคุมพิเศษนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของใบพัดได้มากถึงร้อยละ 80

.

นอกจากนี้ ในสภาพอากาศที่มีลมพายุ ใบพัดจะหันออกจากทิศทางลมโดยอัตโนมัติ ช่วยป้องกันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและใบพัดไม่ให้ทำงานหนักเกินไป และด้วยโครงสร้างแบบทาวเวอร์สูง 19 เมตร และมีน้ำหนักเบา จึงสามารถติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง 2 วัน โดยใช้เครื่องกว้าน ซึ่งง่ายต่อการดูแลรักษาในอนาคต