เนื้อหาวันที่ : 2007-06-12 12:01:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4693 views

WD ขึ้นแท่นผู้ผลิตฮาร์ดไดร์ฟรายใหญ่ที่สุดในไทย

บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด จับมือภาครัฐส่งเสริมและร่วมพัฒนาบุคลากรด้านไอทีที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดไดร์ฟที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

.

บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WD ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดในประเทศไทย และครองตำแหน่งผู้ผลิตฮาร์ดไดร์ฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและร่วมพัฒนาบุคลากรด้านไอทีที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดไดร์ฟที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน WD มีฐานการผลิตฮาร์ดไดร์ฟในประเทศไทยจำนวน 2 แห่ง ขับเคลื่อนด้วยพนักงานทั้งสิ้นกว่า 26,000 คน

.

ในปี 2549 เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) สามารถส่งออกฮาร์ดไดร์ฟสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทเดสก์ท้อป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์ระดับเอ็นเตอร์ไพร์สไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 85 ล้านยูนิต รวมถึงตลาดใหม่อย่างฮาร์ดไดร์ฟสำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องบันทึกวีดีโอ และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลประเภทติดตั้งภายนอก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดส่งออกฮาร์ดไดร์ฟไปยังตลาดโลกจำนวน 35 ล้านยูนิตในปี 2545 พบว่า WD มีอัตราการเติบโตของยอดส่งออกมากถึงปีละ 25% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

.

จากตัวเลขรายงานของบริษัทวิจัยตลาดและวิเคราะห์ข้อมูล IDC ระบุว่า ในปี 2549 ยอดผลิตฮาร์ดไดร์ฟทั้งหมดของอุตสาหกรรมโลกมียอดรวมประมาณ 436 ล้านยูนิต   ซึ่งชี้ให้เห็นว่า WD ได้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายสินค้าฮาร์ดไดร์ฟในสัดส่วนมากถึง 20 % ของความต้องการโดยรวมทั่วโลก ทั้งนี้ ฐานการผลิตของ WD ในประเทศไทยสามารถผลิตฮาร์ดไดร์ฟ รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบย่อยหลายประเภท และชุดหัวอ่านได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตโดยรวมทั้งหมดของ WD

.

ปัจจุบัน WD มีฐานการผลิตในประเทศไทยจำนวน 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำหน้าที่ผลิต Slider / HGA  / Headstack  (ชุดหัวอ่าน/เขียน)  และฮาร์ดไดร์ฟ ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี โดยทำหน้าที่ผลิต  Headstack  (ชุดหัวอ่าน/เขียน)  และชิ้นส่วนประกอบสำคัญของฮาร์ดไดร์ฟ นอกจากฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว WD ยังมีโรงงานอีก 1 แห่งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพนักงานประมาณ 8,000 คน ทั้งนี้ WD ออกแบบฐานการผลิตให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับทักษะความสามารถในการผลิตสินค้าฮาร์ดไดร์ฟและชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ ของฮาร์ดไดร์ฟ

.

WD ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานอีกในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดฮาร์ดไดร์ฟที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไอดีซีคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมฮาร์ดไดร์ฟจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี และความต้องการในตลาดโลกจะเพิ่มมากขึ้น

.

ล่าสุด เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตฮาร์ดไดร์ฟที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

.

นายดอน  เบลค รองประธานฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ/เอเชีย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล จำกัด กล่าวว่า "ทีมงานของฐานการผลิตฮาร์ดไดร์ฟในประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทีมงานที่มีทักษะสูงและการสนับสนุนอันดีจากทางรัฐบาลไทยในส่วนที่มีความจำเป็นต่างๆ สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดไดร์ฟ ได้ช่วยให้ WD สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้ผลิตฮาร์ดไดร์ฟที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ WD ยังเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทยเมื่อเทียบกับทุกอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งนี้ WD ได้ลงทุนด้านการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคคลากรของเมืองไทย ด้วยรูปแบบการอบรม และโปรแกรมด้านการศึกษาต่างๆ  เพื่อให้องค์กรสามารถประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมเช่นนี้ตลอดไป"

.

รองประธานฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ/เอเชีย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล กล่าวอีกว่า WD ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องในการจัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านไอที อาทิ  โครงการความร่วมมือกับสถาบันเอไอที (Asian Institute Technology) หน่วยงานหนึ่งภายใต้สังกัดเนคเทค ในการจัดตั้งศูนย์ HTTI (Harddisk Technology Training Institute) โดยเนคเทคในฐานะหน่วยงานของภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่เวสเทิร์น ดิจิตอลให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต

.

นอกจากนี้  WD ยังมีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของภาครัฐอีกหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง  และเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ธนบุรี โดยจัดทำโครงการชื่อ  I/U CRC (Industrial/University Collaboration Research Center ) โครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ โดยสถาบันการศึกษาที่ร่วมมือกับบริษัทในโครงการ I/U CRC พร้อมด้วยเนคเทคจะนำเงินสนับสนุนมาใช้เป็นทุนด้านการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และสนับสนุนงานด้านวิจัยและพัฒนา 

.

ขณะเดียวกัน  WD ยังได้ให้การสนับสนุนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยการจัดอบรบเจ้าหน้าที่ของบีโอไอเกี่ยวกับเทคโนโลยีฮาร์ดไดร์ฟเป็นประจำทุกปี  "เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าของรัฐบาลจะได้รับการอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งความสำคัญด้านสุขภาพ และการจัดการด้านซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม  ซึ่งความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีอย่างต่อเนื่องดังกล่าว จะช่วยให้เราสามารถตอบรับกับการขยายตัวของตลาดสินค้าด้านจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลได้เป็นอย่างดี" นายดอนกล่าวปิดท้าย