เน้นการสร้างมูลค่าชีวมวลและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง หลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการผลิตพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ได้ลงนามความร่วมมือในการขยายการดำเนินโครงการ การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศน์ด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร (E3Agro) เน้นการสร้างมูลค่าชีวมวลและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง หลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการผลิตพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม |
. |
ดร. พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า "พพ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมกับ GTZ ในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศน์ด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร (E3Agro) ต่อไปอีก โดยยังคงมุ่งเน้นการแปรรูปของเสียชีวมวลให้สามารถผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากชีวมวลได้ถึง 3,000 เมกกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 35,000 ล้านบาทต่อปี สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ในสัดส่วนร้อยละ 8 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ภายในปี 2554 และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้พลังงานในภาคภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ลดการนำเข้าพลังงานน้ำมันได้กว่า 120,000 ล้านบาท" |
. |
มร. เยือร์เกน คอคห์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย GTZ กล่าวว่า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศน์ด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร (E3Agro) เป็นความร่วมมือระหว่าง พพ. กับ GTZ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตรโดยเป้าหมายคืออุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 4-5 พันล้านบาทต่อปี รวมทั้งการลดการใช้พลังงานในการทำฟาร์มกุ้งซึ่งมีศักยภาพในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึง 5 พันล้านบาทต่อปี โดยโครงการฯ มีแนวทางส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าแก่ของเสียจากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง อาทิ การใช้น้ำเสียมาผลิตพลังงานไฟฟ้าความร้อนร่วม โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ก๊าซชีวภาพประสิทธิภาพสูง ตลอดจนการดำเนินกิจกรรม Benchmarking เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังจะเข้าไปศึกษาและสำรวจและให้ความช่วยเหลือเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการทำฟาร์มกุ้ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกนับหมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกกุ้งของไทย |
. |
โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศน์ด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จึงได้จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice Guides) มอบให้แก่สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการผลิตพลังงานจากของเสียในกระบวนการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศน์ในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย และในความร่วมมือครั้งใหม่นี้จะทำให้มีแนวทางสำหรับการผลิตพลังงานจากของเสียในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง การผลิตเอทานอลอย่างยั่งยืน และการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการจัดทำฟาร์มกุ้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก และลดการพึ่งพาพลังงานที่นำเข้าจากต่างประเทศ |
. |
GTZ เป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมัน ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว |