สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยภาคอุตฯ เดินเครื่องการผลิตจบไตรมาสแรก ดัชนีอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 ส่วนกำลังการผลิตอยู่ที่ 66.8%
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยภาคอุตฯ เดินเครื่องการผลิตจบ Q1 ดัชนีอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 ส่วนกำลังการผลิตอยู่ที่ 66.8% ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนจากการผลิตรถยนต์ที่เติบโตถึงร้อยละ 47.47 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตชะลอ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากการชะลอตัวของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและอียู อาหารทะเล จากปัญหาโรคระบาดกุ้ง ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากฐานการผลิตที่สูงเนื่องจากมีการเร่งผลิตในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ไตรมาสที่1 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.90% เมีอเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 66.80% ถือเป็นการปรับตัวลดลงจาก ไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัว 43.84% ซึ่งเป็นผลจากฐานการคำนวณที่เข้าสู่ภาวะปกติหลังอุทกภัยแล้ว โดยอุตสาหกรรมหลักที่เป็นปัจจัยหนุนให้ MPI ไตรมาสแรกขยายตัวเกิดจากแรงขับเคลื่อนจากการผลิตรถยนต์ที่เติบโตร้อยละ 47.47 เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกมากว่าร้อยละ 60 หดตัวลงร้อยละ 5.38 (อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป -14.33% อาหารทะเล -6.93% ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ -7.34 ยางพารา -1.48% )
ขณะที่ MPI เดือนมีนาคม 2556 มีค่าระดับ 194.34 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งหลังจากติดลบในเดือนที่ผ่านมา โดยขยายตัวร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ระดับ MPI ในเดือนมีนาคม 2556 เป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 18 เดือนสำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 70.4 เป็นระดับที่สูงสุด ในรอบ 82 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549
ดร.วิฑูรย์ ยังกล่าวอีกว่าอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อการขยายตัวดัชนีอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ได้แก่
การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวถึง 47.47% ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งผลิตรถยนต์ในโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรกซึ่งยังค้างส่งมอบตั้งแต่ปีก่อนประกอบกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีการจัดโปรโมชั่นที่มีการแข่งขันรุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปีเพื่อกระตุ้นยอดขาย
การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.66% จากการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรม และจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.91% เนื่องจากปีนี้ดำเนินการผลิตได้ตามปกติ ขณะที่ช่วงนี้ของปีก่อนอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเครื่องจักหลังน้ำลด และการที่ตลาดกับอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม
ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบด้านลบ ได้แก่
การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 7.34 เนื่องจากไตรมาสนี้ของปีก่อน ผู้ผลิต Hard Disk Drive ทุกโรงงานต่างเร่งการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยในส่วนที่เกิดวิกฤติน้ำท่วม และส่งมอบสินค้าที่ค้างส่งจากช่วงดังกล่าว หลังกลับมาเดินเครื่องผลิตสินค้าได้ตามปกติ
การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 6.93 เนื่องจากปัญหาโรคระบาดของกุ้ง
การผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 14.33 จากการชะลอตัวของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและมีการย้ายโรงงานผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้านหลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม