เนื้อหาวันที่ : 2013-04-26 18:35:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1464 views

นักเศรษฐศาสตร์ นิด้า แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย-ดูแลค่าเงิน

ถึงเวลาผ่อนปรนนโยบายการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ย ชี้สาเหตุบาทแข็งมาจากเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุน จากความเชื่อมั่นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะแบงก์ชาติ ถึงเวลาผ่อนปรนนโยบายการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ย ชี้สาเหตุบาทแข็งมาจากเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุน จากความเชื่อมั่นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย มากกว่าการเข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงิน ระบุหากบาทยังแข็งค่า ส่งออกไตรมาส 2 กู่ไม่กลับ จากแนวโน้มพิษค่าเงินบาทแข็ง หลังยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ ยังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่ม

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 6% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมา มีสาเหตุจากกระแสเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน2 ล้านล้านบาท รวมถึงการปรับเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยที่ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากมีความกังวลต่อปัจจัยเงินเฟ้อภายในประเทศ แต่หากดูตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบที่ระดับ 1.23% และระดับเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.69% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการขยายตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

“การลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น แบงก์ชาติควรคำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งช่วงเวลานี้ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่แบงก์ชาติควรลดผ่อนปรนนโยบายทางการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยลงมา ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิด-ปิดก๊อกน้ำ เพื่อชะลอการไหลของน้ำเพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจและสร้างโอกาสการค้าและการส่งออกให้มีอัตราการขยายตัวที่ดี”รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูตรMPA นิด้า กล่าวว่า หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าอยู่เช่นนี้ เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะหดตัวลง หลังจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าส่งออกลดลงเหลือ 529,529.6 ล้านบาท หรือลดลง4.58% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่มีมูลค่าส่งออก 554,934.3ล้านบาท แม้ว่าในเดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มสูง แต่กลับพบว่าขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลงจากสินค้าส่งออกของไทยที่มีราคาสูงขึ้น จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 2 จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับภาพรวมส่งออกในไตรมาสแรก

นอกจากนี้ กระแสเงินทุนไหลเข้ามาเงินทุนต่างประเทศจะเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ต่อเนื่อง เนื่องจากสหรัฐฯ ยังดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ รวมถึงดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเงินของญี่ปุ่นที่ซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีกเดือนละ7 ล้านล้านเยน และยุโรปที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยของไทยยังสูงเช่นนี้ ย่อมเปิดโอกาสให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย