ICT และ EGA ยกระดับไอทีภาครัฐต่อเนื่อง จัดทำมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ดัน 7 กระทรวงหลักขึ้นแท่นรับประเมินยูเอ็น พร้อมลงมือสร้างเว็บรวมข้อมูลรัฐ และศูนย์แอพฯภาครัฐ หวังยกชุดพัฒนาทั้งระบบ
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ ICT ยกระดับการให้บริการประชาชน ผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ โดยให้หน่วยงานส่วนราชการนำ "มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ (Government Website Standard)" ที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ดำเนินการอยู่ ไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ของหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนั้น ยังให้ EGA จดทะเบียนชื่อและเป็นผู้ถือครองโดเมนเนม ภายใต้ชื่อ "data.go.th" และ "apps.go.th" ในการให้บริการเว็บไซต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) และเป็นศูนย์กลางของแอพพลิเคชั่นภาครัฐ (Government Application Center) ตามลำดับ โดยทั้งสองเว็บไซต์จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมประเทศไทยไปสู่สังคมของการใช้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตในหลากหลายมิติ
ต่อจากนั้นให้เว็บไซต์ของ 7 กระทรวง และอีก 1 หน่วยงาน ซึ่งอยู่ในรายการที่องค์การสหประชาชาติจะทำการตรวจประเมิน ดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ อันประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2559 จึงให้หน่วยงานราชการระดับกรมขึ้นไป สามารถตั้งงบประมาณเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์ได้ทันภายในปีงบประมาณ 2557
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ทั้ง ICT และ EGA ได้จัดทำ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ (Government Website Standard)” เพื่อช่วยให้การพัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการระหว่างหน่วยงานราชการ ที่สมบูรณ์แบบอย่างยั่งยืน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในระดับหน่วยงานผู้ให้บริการ ตลอดจนผู้รับบริการทุกภาคส่วน
โดยในแผนจะเริ่มจากการจัดทำเว็บไซต์กลางเพื่อให้บริการในลักษณะของศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) และเป็นศูนย์กลางของแอพพลิเคชั่นภาครัฐ (Government Application Center) ช่วยให้ผู้ใช้บริการทั้งภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน รวมถึงหน่วยงานราชการ สามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายขึ้น และนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล และส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐจะมีการปรับปรุงตั้งแต่ องค์ประกอบเนื้อหาเว็บไซต์ (Contents) คุณลักษณะของเว็บไซต์ภาครัฐที่ควรมี (Recommended Features) รวมถึงแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) ซึ่งได้รวบรวมและประมวลจาก กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับในประเทศที่เกี่ยวข้อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และข้อกำหนดองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในการจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Government ของกลุ่มประเทศสมาชิก ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับนานาชาติ (International Best Practice)
ที่ผ่านมา EGA ได้เริ่มดำเนินการและหารือกับหน่วยงานต่างๆ มาแล้วทั้งภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน กลุ่มสมาคม ที่รับพัฒนาเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานราชการ และจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐระดับกรมขึ้นไป ประมาณ 60 หน่วยงาน ตลอดจนจัดประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง (Public Hearing) ใน “(ร่าง) มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” เมื่อปี พ.ศ. 2555 มีหน่วยงานภาครัฐ ประมาณ 180 หน่วยงานมารับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะมาจัดทำมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ฉบับสมบูรณ์ ทั้งนี้ ได้มีการผลักดัน 8 หน่วยงานดังกล่าวข้างต้น ให้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ตามมาตรฐานฯ โดยได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หากพิจารณา สถานภาพปัจจุบันของเว็บไซต์ภาครัฐในระดับกระทรวง โดยการสำรวจเว็บไซต์หน่วยงานราชการ ที่มีการให้บริการประชาชนของส่วนราชการระดับกระทรวง 20 หน่วยงาน ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2555 พบว่า เว็บไซต์ของหน่วยงานส่วนราชการ มีระดับการพัฒนาการให้บริการของเว็บไซต์หน่วยงานราชการในภาพรวม ซึ่งตามมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐแบ่งออกเป็น 5 ระดับ สามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาการให้บริการของเว็บไซต์หน่วยงานราชการในภาพรวม จัดอยู่ในระดับ Emerging Information Services จำนวน 72.1%, Enhance Information Services จำนวน 65.25%, Transaction Information Services จำนวน 62%, Connected Information Services และ Intelligence 6% ระดับการพัฒนาการให้บริการผ่านเว็บไซต์ในระดับ Connected Information Services นั้น ไม่อยู่ในขอบเขตการตรวจประเมินในครั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถทำการตรวจประเมินโดยผู้ใช้บริการเว็บไซต์ได้
สำหรับศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) จะจัดตั้งเพื่อทำให้ผู้ใช้บริการทั้งภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน รวมถึงหน่วยงานของรัฐ สามารถค้นหาและเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพของภาครัฐได้ง่าย โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาล ทำให้เกิดความร่วมมือของภาครัฐ และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญในการให้บริการข้อมูลภาครัฐแก่ประชาชน และดำเนินการศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างมูลค่าในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ ความโปร่งใส, การมีส่วนร่วม, การปรับปรุง หรือพัฒนาสินค้าและบริการใหม่, การสร้างนวัตกรรม, การปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการให้บริการของภาครัฐ, สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก
ส่วนศูนย์กลางของแอพพลิเคชั่นภาครัฐ (Government Application Center) จะทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลและบริการ การนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดในธุรกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาศูนย์กลางของแอพพลิเคชั่นภาครัฐ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำ“Apps.Gov” ในปี พ.ศ. 2552, อังกฤษ พัฒนาศูนย์กลางของแอพพลิเคชั่นภาครัฐ ชื่อ “CloudStore” ซึ่งเป็นบริการหนึ่งบน Cloud Service โดยจัดทำในลักษณะ Government e-Marketplace, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีการจัดทำเป็น Mobile websites และ Mobile applications ของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งให้บริการบน Web portal (www.gov.hk) ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น กรมอนามัย ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับการเลิกบุหรี่ (Quit Smoking App) ที่ใช้ได้กับ iPhone และ Android เป็นต้น