ค่าเงินบาทแข็งกระทบภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหากค่าเงินบาทยังแข็งอย่างต่อเนื่อง อุตฯ คาดทั้งปี 2556 จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 2556 หลังจากนั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างช้าๆ และกลับมาแข็งค่ามากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม และค่าเงินบาทล่าสุด ณ วันที่ 17 เม.ย.56 = 28.928 บาท/US
สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.71 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มาเลเซียค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย อินโดนีเซียค่าเงินปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 13.50 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า
การแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมไทยที่ยังมีความเปราะบางตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยล่าสุด จากการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของ IMF ล่าสุด เดือนเมษายน 2556 ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกโดยจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ลดลงร้อยละ 0.2 จากการประมาณการเมื่อเดือน มกราคม 2556 สะท้อนถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามปรับเพิ่มการขยายตัวของภูมิภาคอาเซียนโดยจะขยายตัวร้อยละ 5.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนร้อยละ 0.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ดีต่อภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาจจะทำให้มีปริมาณเงินเคลื่อนย้ายมายังอาเซียนตามไปด้วย ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่า ได้แก่ การเกินดุลการค้า/ดุลบริการ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) และเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น/ตลาดพันธบัตร/ ตลาดเงิน ที่มีผลตอบแทนที่ดี หรือในประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดี
การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบเชิงลบ คือ แรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงบวก คือ การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนมีราคาถูกลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบ และเอื้อต่อการขยายการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลดี อาทิ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร อุตสาหกรรมเหล็ก
ด้านการนำเข้าเชื้อเพลิงและพลังงานมีราคาถูกลงจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของภาคการผลิตและการค้า และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจากปัจจัยภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลดี อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่าแนวทางในการลดผลกระทบ คือ การเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่เริ่มเปิดประเทศ เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวสูงซึ่งจากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของไทย ต้นทุนขนส่งสินค้าที่ต่ำ ภาษีการค้าที่จะเป็น 0% และสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นตลาดใหม่ของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะมาชดเชยตลาดหลักที่เริ่มมีปัญหา อีกทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลงทุนต่างประเทศเพื่อขยายความสามารถในการผลิตที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดจากปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในกลุ่ม AEC และประเทศเศรษฐกิจใหม่
สำหรับกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากพอสมควรแนวทางซึ่งถือเป็นโอกาสคือ สนับสนุน SMEs บุกตลาดอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่ SMEs สามารถทำตลาดได้ง่ายกว่าตลาดอื่น สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและที่สำคัญไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปและแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข็ง เพราะจะส่งผลให้กำหนดราคาขายลำบาก ไม่สามารถทำข้อตกลงซื้อขายระยะยาวได้ และประสบปัญหาขาดทุน