เนื้อหาวันที่ : 2007-06-05 09:37:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1515 views

กพช. เห็นชอบแผน PDP 2007 วงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท

แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอนุมัติให้มีการเปิดประมูล IPP รอบใหม่ภายในเดือน มิ.ย.50 จำนวน 3,200 เมกะวัตต์

"กพช." เห็นชอบแผน PDP 2007 วงเงิน 2.08 ล้านล้านบาท และแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอนุมัติให้มีการเปิดประมูล IPP รอบใหม่ภายในเดือน มิ.ย.50 จำนวน 3,200 เมกะวัตต์ และสรุปตัวเลขการเก็บเงินเข้ากองทุนไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเรียกเก็บ 1 สต./หน่วย ถ่านหิน 2 สต. ระบุจะมีเงินพัฒนาชุมชนทั่วประเทศปีละ 1,858 ล้านบาท

..

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 มีมติอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ในช่วงปี 2550-2564 กำลังผลิต 39,676.25 เมกะวัตต์ โดยแบ่งแผนการจัดหาแหล่งผลิตออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างในปี 2550-2553 รวม 7,885.25 เมกะวัตต์ และช่วงที่ 2 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2554-2564 รวม 31,791 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ กฟผ. ดำเนินการเอง 16 โครงการ จำนวน 12,400 เมกะวัตต์ โครงการ IPP 18 โครงการ จำนวน 12,600 เมกะวัตต์ โครงการ SPP จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 5,091 เมกะวัตต์ รวมวงเงินลงทุนตามแผนใหม่ 2.08 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนที่ กฟผ. ใช้ในระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า 1.37 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนในส่วนของ IPP SPP และต่างประเทศ  0.71 ล้านล้านบาท   

.

นอกจากนี้ กำหนดให้มีแผนทางเลือกหากมีปัญหาในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำหนดให้ กฟผ. พิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเมื่อสิ้นปี 2564 ตามแผน PDP ใหม่ จะมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ/LNG 62.8% ถ่านหินนำเข้า/ลิกไนต์ 15% พลังน้ำ 9.7% นิวเคลียร์ 9% และเป็นพลังงานชนิดอื่นๆ ได้แก่ พลังงานทดแทน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล เป็นต้น รวม 3.5%

.

การประชุม กพช. ครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของ ปตท. เพื่อรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคไฟฟ้าซึ่งสอดคล้องกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2007 ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และในโรงแยกก๊าซของ ปตท. ประกอบด้วยโครงการที่ดำเนินการเจรจาแล้ว ได้แก่ แหล่งเจดีเอ แหล่งอาทิตย์ และแหล่งภูฮ่อม และที่อยู่ระหว่างเจรจาในแหล่งอาทิตย์เหนือส่วนเพิ่ม แหล่งบงกชใต้ และแหล่งเชฟรอน ส่วนในต่างประเทศ ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมจากแหล่งยาดานาจากสหภาพพม่า แหล่งนาทูน่าจากอินโดนีเซีย รวมถึงแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขาย LNG (SPA) ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติให้ ปตท. นำผลการเจรจาและสัญญาซื้อขาย LNG กลับมาเสนอต่อ สนพ. กพช. และ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้รับทราบถึงความก้าวหน้าการจัดตั้งโครงการ LNG Receiving Terminal เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับเรือนำเข้า LNG ในปี 2554  

.

ที่ประชุม กพช. ยังได้อนุมัติแผนการทบทวนแผนแม่บทท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 พ.ศ.2544-2554 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) จำนวน 14 โครงการ วงเงินลงทน 165.077 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการระยะที่ 1 โครงการวางท่อก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โครงการระยะที่ 2 การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) โครงการระยะที่ 3 แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 (ปรับปรุง) และโครงการลงทุนเพิ่มเติมในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเชื่อมในทะเล  

.

การประชุม กพช. อนุมัติให้เร่งเปิดประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผน PDP ใหม่ ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2555 เพราะจะมีเวลาเหลืออีกเพียง 4 ปี โดยเห็นชอบในหลักการของแนวทางการออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ในช่วงปี 2555-2557 จำนวน 3,200 เมกะวัตต์ โดยวิธีประมูลแข่งขัน   

.

คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวน IPP ได้ภายใน มิ.ย.50 นี้ และให้ผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ยื่นข้อเสนอเข้ามาภายในเดือนตุลาคม 2550 ทั้งสถานที่ตั้งและการเลือกใช้เชื้อเพลิง โดยกระทรวงพลังงานจะประเมินและคัดเลือกข้อเสนอให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2550 และสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในมิถุนายน 2551 เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ทันตามกำหนด  

.

การประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน IPP SPP และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยมอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน กฟผ. และกระทรวงมหาดไทย นำไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้โรงไฟฟ้าทุกแห่งต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน แบ่งเป็น ช่วงระหว่างการก่อสร้าง ให้จ่ายตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า ในอัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อปี และช่วงที่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาแล้ว ให้จ่ายตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็นประจำทุกเดือน ในอัตราที่แตกต่างกันตามการปล่อยมลภาวะจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์ต่อหน่วย น้ำมันเตา/ดีเซล 1.5 สตางค์ต่อหน่วย ถ่านหิน/ลิกไนต์ 2 สตางค์ต่อหน่วย และพลังงานหมุนเวียน หากเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากพลังงานชีวมวล กาก เศษวัสดุเหลือใช้ และขยะ เรียกเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย และพลังน้ำ เรียกเก็บ 2 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนลมและแสงอาทิตย์ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ

.

ทั้งนี้ จากประมาณการเบื้องต้นในปี 2549 โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 1,858 ล้านบาทต่อปี เพื่อจัดสรรให้กับชุมชนทั่วประเทศได้ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้นำมาใช้ทันทีในการประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไว้ในประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า ส่วนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป