ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้จะรุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี"40 เนื่องจากผลกระทบกระจายลงไปสู่ประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งสะท้อนมาจากอำนาจการซื้อที่ลดลง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลทำผิดเวลา ทำให้เศรษฐกิจตีลังกา วิธีการที่ดีที่สุดคือการให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ เพื่อจะให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้เชื่อว่าจะรุนแรงกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี"40 เนื่องจากผลกระทบกระจายลงไปสู่ประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งสะท้อนมาจากอำนาจการซื้อที่ลดลง ในขณะที่ปี"40 ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุน โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตไม่ถึง 4% หรืออาจจะติดลบเป็นครั้งแรกในช่วง 10-20 ปี เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่นิ่ง และรัฐบาลให้ความสนใจการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็สายเกินไปที่จะกลับมาแก้ไขแล้ว เนื่องจากการแก้ไขต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจนถึงขณะนี้ยังแก้ไขไม่ดีนัก รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ดำเนินการช้าเกินไป |
. |
"การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ทำได้ผิดเวลา ทำให้เศรษฐกิจตีลังกา วิธีการที่ดีที่สุดคือการให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ เพื่อจะให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ ดังนั้น หากแก้ไขได้ถูกต้องจะทำให้กำลังซื้อในประเทศกลับมาเร็ว และเศรษฐกิจไทยน่าจะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวประมาณครึ่งปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้มองการบริหารประเทศในระยะเวลา 1 ปี ทำให้ส่วนใหญ่ใส่เกียร์ว่าง ซึ่งการมีรัฐบาลมองการบริหารประเทศระยะยาวเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ" นายบุณยสิทธิ์ กล่าว |
. |
นายบุณยสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับในเครือสหพัฒน์ปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ติดลบ 5% จากปีที่แล้วมีรายได้รวม 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบกว่า 60 ปีนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา และเป็นการมองในแง่ร้ายไว้ก่อน เพื่อจะเตรียมตัวกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น จากปกติจะเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องสำอางมียอดขายลดลง 20-30% เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ยอดขายลดลง จากทุกปีเติบโตมาโดยตลอด |
. |
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี"50 ว่า เศรษฐกิจน่าจะขยายตัว 4-4.5% และอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2-2.5% ปรับลดจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 4-5% และอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2.5-3% เนื่องจากพบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 4.3% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 6.1% ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 1.3% เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 และการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.4% ชะลอตัวต่อเนื่อง 7 ไตรมาสติดต่อกัน |
. |
ทั้งนี้ ผู้บริโภคและนักธุรกิจยังรอดูความชัดเจนในการรับร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งช่วงปลายปี มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแนวโน้มส่งออกที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรง ความเป็นไปได้ของจีดีพีที่จะขยายตัว 4-4.5% มีสูงถึง 76% แต่จะไม่เร่งให้โตเกินกว่า 5% เพราะเศรษฐกิจควรโตตามจริง หากเร่งแล้วจะทำให้เกิดภาระหนี้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จีดีพีปีนี้จะต่ำกว่า 4% ก็มีหากการส่งออกมีปัญหา และการใช้จ่ายภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมาย |
. |
ที่มา : ข่าวสด |