UAC-PTT เซ็น MOU ซื้อ-ขาย ก๊าซ CNG โครงการ PPP สุโขทัย รุก ธุรกิจพลังงาน มั่นใจดึงรายได้เฉลี่ย กว่า 300 ล้านบาท/ปี
บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ (UAC) ผนึก บมจ.ปตท.(PTT) เซ็นสัญญาลงนามข้อตกลงในการจำหน่าย ก๊าซธรรมชาติอัด(CNG)ภายใต้โครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม(PPP)จ.สุโขทัย ในระยะเวลา 3 ปี เตรียมผลิตในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ด้าน “กิตติ ชีวะเกตุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ระบุ บริษัทฯรับรู้รายได้เข้ามาปีนี้ 120-150 ล้านบาท และจะรับรู้รายเข้ามาเต็มที่ เฉลี่ย 300 - 350 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี2557 เป็นต้นไป
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) หรือ UAC ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทฯได้มีการ ลงนามในสัญญาจำหน่าย ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed natural gas : CNG) ให้กับ บมจ. ปตท. ภายใต้ โครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Petroleum Production Project หรือ PPP) ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีสัญญาข้อตกลงในการซื้อขายก๊าซดังกล่าว เป็นระยะเวลา อย่างน้อย 3 ปี
โครงการดังกล่าว มีกำลังการผลิต รวมประมาณ 20,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น CNG 65%, LPG 30% และ NGL 5% ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะสามารถส่งมอบและจัดจำหน่าย ในเชิงพาณิชย์ ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 นี้ เป็นต้นไป สำหรับประมาณการายได้จากโครงการดังกล่าว คาดว่าจะรับรู้เข้ามาภายในปีนี้ ประมาณ 120-150 ล้านบาท และจะรับรู้รายเข้ามาเต็มที่ ที่ระดับ300 - 350 ล้านบาท ได้ตั้งแต่ปี2557 เป็นต้นไป
สำหรับการร่วมมือในการส่งมอบก๊าซ ระหว่างUACที่ให้กับPTT นั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถ ที่แข็งแกร่งของบริษัทฯได้มาก ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ในองค์กรบริษัทฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแผนการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานของ UAC จะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจขนาดใหญ่รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจในอนาคตของบริษัทฯ ” นายกิตติ กล่าว
นอกจากนี้ นายกิตติ ยังได้กล่าวถึงประมาณการรายได้ ในปีนี้ว่า บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 20 - 30% เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยจะแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ จากธุรกิจเทรดดิ้ง(ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก) ประมาณ 75% ขณะที่รายได้จากธุรกิจพลังงาน จะอยู่ที่ 25% โดยมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการPPP ที่จังหวัดสุโขทัย ประมาณ120 - 150 ล้านบาท และรายได้จากโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง (Compressed Bio-Methane Gas หรือ CBG) ประมาณ 60 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากแผนการขยายไปยังธุรกิจพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ CBG , โครงการ PPP หรือแม้แต่โครงร่วมลงทุน ระหว่าง บมจ.บางจาก ภายใต้โครงการ บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) และ กับ บมจ.ไฮโดรเท็ค( HYDRO) ภายใต้การจัดตั้งบริษัทย่อย UAC Hydrotek ในโครงการผลิตน้ำดีและบำบัดน้ำเสีย ก็เพื่อเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ ในการขยายการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และกิจการสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จากความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศที่สูงขึ้นในอนาคต เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวตามปริมาณความต้องการที่ขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากแผนการขยายธุรกิจบรรลุเป้าหมาย ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า ตามที่บริษัทฯคาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลให้ UAC มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทฯในปี 2558 แตะ 3,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสัดส่วนรายได้ที่มาจาก ธุรกิจพลังงานทดแทน 50% และ จากธุรกิจเทรดดิ้ง 50%