ก.พลังงาน ชูนโยบาย สู้วิกฤตราคาน้ำมัน กระหึ่ม กลางการประชุมความร่วมมือพลังงานเอเชีย ที่ซาอุดิอาระเบีย ย้ำชัดทุกประเทศตื่นตัวแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมัน ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มั่นใจผูกสัมพันธ์ชาติผู้ผลิตและนำเข้าน้ำมันทั่วเอเชีย ร่วมมือกับผลิตพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง
ก.พลังงาน ชูนโยบาย สู้วิกฤตราคาน้ำมัน กระหึ่ม กลางการประชุมความร่วมมือพลังงานเอเชีย ที่ซาอุดิอาระเบีย ย้ำชัดทุกประเทศตื่นตัวแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมัน ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มั่นใจผูกสัมพันธ์ชาติผู้ผลิตและนำเข้าน้ำมันทั่วเอเชีย ร่วมมือกับผลิตพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง |
. |
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลัง การเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านความร่วมมือพลังงานของเอเชีย (2nd Roundtable Ministerial Table Meeting of Asian Regional Petroleum Cooperation) ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ว่า ในการประชุมฯ ดังกล่าว ซึ่งมีเลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และเลขาธิการสำนักงานพลังงานนานาชาติ (IEF) เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยนั้น กระทรวงพลังงานได้นำเสนอจุดยืนของไทย ในฐานะประเทศที่ยังต้องนำเข้าพลังงานถึงกว่าร้อยละ 60 ของความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ซึ่งผลกระทบจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้ไทยต้องเร่งรณรงค์และออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนจัดหาแหล่งพลังงานภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น |
. |
ทั้งนี้ แม้ว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญสำหรับไทยในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ไทยจะมีมาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกต่างๆอย่างจริงจัง ทั้งในภาคขนส่ง (ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และ NGV) และในภาคการผลิตไฟฟ้า (ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆในโครงการของ VSPP และ SPP) รวมทั้งความจำเป็นที่ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของโลกจะต้องร่วมมือกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานด้วย |
. |
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกิจการพลังงานหรือปิโตรเลียมจาก 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก การเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนในกิจการพลังงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้นำเข้าพลังงานของเอเชีย การเสริมสร้างความมั่นคงในด้านอุปสงค์และอุปทานของน้ำมัน ความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และบทบาทของพลังงานทางเลือกในยุคที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นด้วย อนึ่ง ภายในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยยังได้มีการพบ และร่วมหารือข้อราชการความร่วมมือ และกระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงานในระดับทวิภาคี (Bilateral Meetings) กับรัฐมนตรีด้านพลังงานของซาอุดิอาระเบีย คูเวต อิหร่าน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และบาห์เรน อีกด้วย |