เนื้อหาวันที่ : 2007-05-30 10:18:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3927 views

การพัฒนาแนวความคิดการค้าเสรีจากอดีตสู่ปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการค้าเสรีเกิดจากแนวคิดที่ล้มเหลวของลัทธิพาณิชย์นิยม การค้าเสรีเกิดขึ้นมาภายใต้ความเชื่อที่ว่าการแบ่งงานกันทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพราะเมื่อทุกคนชำนาญอะไรก็ผลิตสินค้านั้น

เดี๋ยวนี้ไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องการค้าเสรีบ้าง FTA บ้าง ทั้งนี้เรื่องของการค้าเสรี (Free Trade) ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยสำหรับโลกปัจจุบัน  หากแต่การค้าเสรีมีมาแต่โบราณกาลภายใต้พื้นฐานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ (International Trade Economics) ใครจะไปคาดคิดว่าเนื้อหาในสนธิสัญญาบาวริ่งที่สยามได้ทำกับจักรวรรดินิยมอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ได้อ้างแนวคิดเรื่อง การค้าเสรีเหมือนกัน ดังนั้น ผู้เขียนจะขอเล่าถึงพัฒนาการแนวความคิดเรื่องการค้าเสรีว่าเป็นมาอย่างไร  มีนักเศรษฐศาสตร์ในอดีตมองเรื่องการค้าระหว่างประเทศกันเช่นไร  และปัจจุบันรูปแบบของการค้าเสรีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร    

.

แต่ดั้งเดิมนั้นแนวความคิดเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นที่ยุโรปในศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะอังกฤษ  สเปน ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกส ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดแนวคิดที่เรียกว่า Mercantilism หรือ ลัทธิพาณิชย์นิยมโดยหลักการของพาณิชย์นิยม คือ มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งและสะสมทองคำให้กับประเทศตนเองผ่านทางการค้ากับต่างประเทศ โดยส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ทองคำและโลหะมีค่าขณะเดียวกันก็พยายามป้องกันการไหลออกของทองคำด้วยการไม่พยายามนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อต่างคนต่างต้องการขายสินค้าโดยไม่พยายามซื้อสินค้าของประเทศอื่นเลยเพราะเกรงทองคำจะไหลออกในยุคดังกล่าว จึงเกิดมาตรการกีดกันสินค้าเข้าจากต่างประเทศมากมาย 

.

อย่างไรก็ตามมีนักคิดชาวอังกฤษอย่าง   David Hume (1711- 1776) ได้วิจารณ์แนวคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมในอังกฤษว่า การที่ทองคำไหลเข้าประเทศมากเท่ากับเงินตราในประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อเงินตราเพิ่มขึ้นก็ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นนั่นรวมไปถึงทำให้สินค้าที่อังกฤษส่งขายต่างประเทศพลอยมีราคาสูงขึ้นไปด้วย ในที่สุดก็จะทำให้ต่างประเทศเริ่มซื้อสินค้าของอังกฤษลดลง ซ้ำร้ายคนอังกฤษก็จะหันไปซื้อของต่างประเทศมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วอังกฤษก็จะขาดดุลการค้าและทองคำก็จะไหลออกนอกประเทศ และด้วยเหตุผลนี้เองที่ Hume ส่งเสริมให้เกิดการค้าระหว่างประเทศเพราะทำให้ประชากรเกิดความต้องการสินค้าจากประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น   

.

จากจุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำนักเศรษฐศาสตร์ในยุคต่อมาเริ่มสนใจบทบาทของการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่อิทธิพลทางความคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมเสื่อมลง  แนวคิดในเรื่องของการค้าเสรีได้เริ่มแตกหน่ออ่อนขึ้นมา เมื่อ Adam Smith (1723-1790) ได้แต่งหนังสือเรื่อง The Wealth of Nation ประมาณปลายศตวรรษที่ 17 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ในอังกฤษ  สมิธได้เสนอหลักการแบ่งงานกันทำหรือ Principle of Division of Labor ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า กระบวนการผลิตสินค้าอาจแบ่งเป็นหลายขั้นตอน แรงงานแต่ละคนควรจะทำหน้าที่ในการผลิตเฉพาะขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งแทนที่จะทำคนเดียวหมด  การแบ่งงานกันทำจะก่อให้เกิดความชำนาญและสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น

..

ดังนั้น การที่บุคคลเลือกผลิตสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือชำนาญและนำไปแลกสิ่งที่ตนเองต้องการจากผู้อื่นแล้ว  ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์จากการที่มีผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับการค้าระหว่างระหว่างประเทศ หากประเทศต่างๆ เลือกผลิตเฉพาะสินค้าที่ตนเองชำนาญ ผลผลิตเหล่านั้นเมื่อรวมกันจะเพิ่มขึ้นและมากกว่ากรณีที่ประเทศเดียวผลิตทุกอย่าง การนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกันจะช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้รับประโยชน์มากขึ้น  สมิธเชื่อว่าโลกในอนาคตจะถูกเชื่อมโยงเข้ากันด้วยตลาดการค้าเสรี  การแทรกแซงของรัฐบาลในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า  สนับสนุนการผลิตสินค้าแบบผูกขาดเพื่อส่งออกถือเป็นการกีดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยธรรมชาติ  รัฐควรมีหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งการแข่งขัน  ดังนั้น หากทุกประเทศมัวแต่กีดกันทางการค้าจะทำให้ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของโลกลดลง     

.

แนวคิดเรื่องการค้าเสรีของสมิธ (Laizez Fair) ทำให้เกิดคำอธิบายต่อมาว่าแล้วประเทศใดควรผลิตสินค้าอะไรเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกัน David Ricardo นักเศรษฐศาสตร์ในสำนักคลาสสิค ได้อธิบายถึงทฤษฎีต้นทุนเปรียบเทียบ (Theory of Comparative Advantage) โดยมีหลักสำคัญ คือ แต่ละประเทศควรมุ่งผลิตสิ่งที่ประเทศนั้นผลิตได้โดยใช้แรงงานน้อยที่สุดแต่ได้ผลผลิตมากที่สุดแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน ประเทศเหล่านั้นก็จะได้เปรียบกว่าที่จะผลิตสินค้าหลายอย่างโดยไม่แลกเปลี่ยนกัน

...

.

จากตารางจะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสผลิตไวน์ X ขวด และผ้า X เมตรภายใน 1 ปีโดยใช้คนงานจำนวน 80 คน ในการผลิตไวน์และ 90 คนในการผลิตผ้าซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษแล้วฝรั่งเศสน่าจะผลิตเองได้ทั้งสองอย่าง แต่เนื่องจากเมื่อเกิดการค้าระหว่างประเทศขึ้นทำให้อังกฤษต้องส่งสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศสภายใต้พื้นฐานของการแบ่งงานกันทำ และทำให้เกิดความชำนาญในการผลิตสินค้าอีกด้วย  เมื่อเราดูตารางจะพบว่าฝรั่งเศสควรเลือกที่จะผลิตไวน์เพราะใน 1 ปีฝรั่งเศสผลิตไวน์ X ขวด โดยใช้แรงงาน 80 คน ซึ่งใช้แรงงานน้อยกว่าผลิตผ้า เช่นเดียวกันอังกฤษก็ควรผลิตผ้าเพราะใน 1 ปี อังกฤษผลิตผ้าได้ X เมตร โดยใช้แรงงาน 100 คน น้อยกว่าใช้แรงงานผลิตไวน์  เมื่อทั้งสองประเทศต่างคนต่างผลิตในสิ่งที่ตนเองใช้แรงงานน้อยที่สุดแต่ได้ผลผลิตมากที่สุดแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันก็จะเกิดความชำนาญในการผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ                               

 

หลักการแบ่งงานกันทำทำให้เกิดการประหยัด  กล่าวคือ ฝรั่งเศสทำไวน์ 2 เท่าเพื่อส่งให้อังกฤษ 1 เท่า แลกกับผ้า ฝรั่งเศสจะใช้คนงาน 160 คน (80+80) แต่ถ้าฝรั่งเศสผลิตทั้งไวน์และผ้าจะใช้คนงาน 170 คน (80+90) ดังนั้น หากฝรั่งเศสทำไวน์อย่างเดียวก็จะประหยัดแรงงานไป 170-160 = 10 คน  ขณะเดียวกันหากอังกฤษผลิตผ้า 2 เท่าโดยอีก1 เท่าส่งไปแลกไวน์กับฝรั่งเศส  อังกฤษจะใช้แรงงาน 200 คน (100+100) แต่หากอังกฤษเกิดผลิตทั้งผ้าและไวน์ก็จะใช้แรงงาน 220 คน (120+100) จะเห็นได้ว่าอังกฤษประหยัดแรงงานลงได้ 220-200 = 20 คน  ดังนั้น ประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศนอกจากจะช่วยให้แต่ละประเทศมีความชำนาญในการผลิตสินค้าแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตอีกทั้งการค้าระหว่างประเทศช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย  Ricardo สรุปว่าประเทศใดที่จะส่งสินค้าที่ตนผลิตออกขายต่างประเทศ  ประเทศนั้นควรได้เปรียบเรื่องต้นทุนหรือผลิตได้ถูกกว่า ขณะเดียวกันก็ควรซื้อสินค้าเข้าเมื่อประเทศของตนเองเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต      

.

ความได้เปรียบในการผลิตสินค้าของแต่ละประเทศหรือ Comparative Advantage มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายทางการค้าของอังกฤษในยุคต่อมาโดยเฉพาะในสมัยการล่าอาณานิคมประเทศไทยหรือสยามสมัยนั้นเมื่อทำสนธิสัญญาบาวริ่งในปี 2398 ซึ่งถือว่าเราได้เปิดประเทศแล้วภาคการเกษตรของไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นการผลิตเพื่อยังชีพหลังจากสนธิสัญญาบาวริ่งภาคการเกษตรเน้นการผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นโดยเฉพาะข้าวที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบสูงกว่าชาติอื่นๆทำให้เราเน้นการปลูกข้าวมากขึ้นหลังสมัยรัชกาลที่  4 และข้าวก็กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด   

.

นักเศรษฐศาสตร์ในยุคต่อมาได้อธิบายแนวคิดทางการค้าระหว่างประเทศโดยเพิ่มเติมเรื่องค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เข้าไปในทฤษฎีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ดังเช่นการอธิบายของ Gottfried  Harbeler ฮาเบอร์เจอร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิค หรือพวกคลาสสิคใหม่ได้นำเรื่องค่าเสียโอกาสมาอธิบายมูลค่าผลผลิตโดยเห็นว่าข้อสมมติของพวกคลาสสิคเก่านั้นการผลิตสินค้ามีค่าเสียโอกาสแบบคงที่ ขณะที่ข้อสมมติของฮาเบอร์เจอร์กลับมองว่าการผลิตสินค้ามีค่าเสียโอกาสแบบเพิ่มขึ้น (ซึ่งในส่วนนี้คณะผู้เขียนจะไม่อธิบายในรายละเอียดเนื่องจากมีความซับซ้อนในภาคทฤษฎี)  ในปัจจุบันทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศได้พัฒนาเครื่องมือเพื่ออธิบายการค้าระหว่างประเทศในแง่มุมต่างๆ เช่น ผลประโยชน์ในการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจ หรือ การนำกราฟมาอธิบายเรื่องการจัดสรรทรัพยากรระหว่างประเทศ เช่น Edgeworth Bowley Box Diagram เป็นต้น ในทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่มีนักเศรษฐศาสตร์สวีเดน 2 ท่านที่ควรเอ่ยถึง คือ Eli  Heckher และ Bertil Ohlin ทั้งสองเป็นผู้อธิบายว่าทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่ใน แต่ละประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นเป็นไปได้ (เส้น PPC) ในการผลิตของแต่ละประเทศแตกต่างกัน  

.

ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศที่อธิบายบนฐานคิดทางเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยอดัม สมิธ จนถึงปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่มีความต้องการที่จะอธิบายให้เห็นถึงคำว่าการค้าระหว่างประเทศและการค้าเสรี  นโยบายการค้าเสรีมีแนวทางสำคัญคือให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าให้มากที่สุดโดยไม่พยายามแทรกแซง  ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องเก็บภาษีก็ควรเก็บในอัตราที่ต่ำที่สุดโดยการเก็บภาษีมีจุดมุ่งหมายเพื่อหารายได้เข้ารัฐเท่านั้น  ปัจจุบันรูปแบบทางการค้าระหว่างประเทศมีการกีดกันในลักษณะที่แนบเนียนและละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่น การนำมาตรการกีดกันที่ไม่เกี่ยวกับภาษีมาใช้ (Non–Tariff Tax) อาทิ การกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น     

.

ปัจจุบันการเปิดเสรีทางการค้าเป็นเสมือนระเบียบใหม่ของโลกเศรษฐกิจซึ่งผลประโยชน์จากการค้าเสรีอาจทำให้บางประเทศได้เปรียบในขณะเดียวกันบางประเทศก็อาจจะเสียเปรียบ ดังนั้น การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (International Economic Integretion) จึงเป็นหนทางในการสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองทางการค้าทั้งนี้รูปแบบการเจรจาต่อรองทางการค้ามีอยู่ 2 ลักษณะคือ ทวิภาคี หรือการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศ เช่น ไทยกับจีน ในขณะที่พหุภาค คือการเจรจาทางการค้าร่วมกันที่มากกว่าสองประเทศ ดังนั้น เงื่อนไขข้อตกลงบางอย่างจึงตกลงกันลำบาก พูดง่ายๆคือยิ่งมากประเทศเท่าไรต้นทุนในการเจรจาย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น ในทางการค้าระหว่างประเทศได้แบ่งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

.

1. Preferential Trade Agreement หรือการให้สิทธิพิเศษทางการค้า โดยใช้ภาษีศุลกากรในหมู่ประเทศสมาชิกในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศนอกกลุ่มแต่ภายในกลุ่มเองก็ยังไม่ใช้ภาษีศุลกากรอัตราเดียวกัน

.

2. Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใช้ภาษีศุลกากรในหมู่ประเทศสมาชิกต่ำกว่าที่ใช้กับประเทศนอกกลุ่มและภายในกลุ่มมีการใช้พิกัดอัตราภาษีร่วมหรือใช้ภาษีศุลกากรอัตราเดียวกันในสินค้ารายการเดียวกัน (Common Tariff) นอกจากนี้ยังยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ความตกลงใน FTAส่วนใหญ่มักครอบคลุมการเปิดเสรีทางด้านอื่นด้วยเช่นการค้าและการลงทุน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ คือเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA  เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA

.

3. Custom Union หรือสหภาพภาษีศุลกากร  การรวมกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากการศึกษาของ Jacob Viner และพัฒนาแนวคิดโดย J Mead และ H.G. Johnson สหภาพภาษีศุลกากรมีการใช้ภาษีศุลกากรในหมู่ประเทศสมาชิกต่ำกว่าที่ใช้กับประเทศนอกกลุ่มภายในกลุ่มมีการใช้ภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกันในสินค้ารายการเดียวกันนอกจากนี้ประเทศสมาชิกทุกประเทศก็จะใช้โครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเดียวกันต่อประเทศนอกกลุ่ม

.

4. Common Market หรือ ตลาดร่วม เป็นการรวมกลุ่มที่ก้าวหน้ากว่าสหภาพภาษีศุลกากรโดยมีการปล่อยเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนระหว่างประเทศสมาชิกภายในกลุ่มซึ่งในอดีตก่อนที่จะเป็น EU ประเทศในกลุ่มยุโรปได้รวมกลุ่มในลักษณะตลาดร่วม

.

5. Economic Union หรือ สหภาพเศรษฐกิจถือเป็นพัฒนาการการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ที่สุด  กล่าวคือ ครอบคลุมการเป็นตลาดร่วมให้มีการปล่อยเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุน นอกจากนี้มีการใช้เงินตราอย่างเดียวกัน  มีการกำหนดนโยบายการเงินและการคลังชุดเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนในโลกปัจจุบันคือ สหภาพเศรษฐกิจยุโรป หรือ EU มีการใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลเดียวกัน  ถือว่าเป็นเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการค้าเสรีมากที่สุด

.

จุดเริ่มต้นของการค้าเสรีเกิดจากแนวคิดที่ล้มเหลวของลัทธิพาณิชย์นิยม  การค้าเสรีเกิดขึ้นมาภายใต้ความเชื่อที่ว่าการแบ่งงานกันทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพราะเมื่อทุกคนชำนาญอะไรก็ผลิตสินค้านั้นแล้วมาแลกเปลี่ยนกัน  การค้าเสรียังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของประเทศต่างๆที่ควรจะผลิตสินค้าที่ตัวเองใช้ต้นทุนน้อยที่สุดแต่ให้ผลผลิตมากที่สุดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันทำให้การค้าระหว่างประเทศพัฒนาต่อเนื่องไปพร้อมๆกับความคิดของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่พยายามอธิบายถึงทฤษฎีต่างๆในการค้าระหว่างประเทศ  ทุกวันนี้การค้าเสรีอาจจะยังไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายสูงสุดคือทั่วโลกค้าขายกันโดยไม่มีอุปสรรคอะไรมาขัดขวาง  แต่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้การค้าเสรีได้กลายเป็นระเบียบใหม่ของโลกเศรษฐกิจในปัจจุบัน

.

เอกสารอ้างอิง

1. Exim Bank , ทิศทางการส่งออกและการลงทุน เล่ม 8

2. วันรักษ์  มิ่งมณีนาคิน, เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเบื้องต้น

3. ชูศักดิ์  จรูญสวัสดิ์, เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต

4. อสัมภินพงศ์  ฉัตราคม , ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

5. เบญจพร  ทังเกษมวัฒนา , การพัฒนาเศรษฐกิจเบื้องต้น

6. อภิชัย  พันธเสน , พุทธเศรษฐศาสตร์

7. อัมพร  วิจิตรพันธ์ และ วิรัช  ธเนศวร, ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ