แสงซินโครตรอนสุดเจ๋ง!พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กรีดร้อน สหวิริยาสตีล เผยสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 30 ล้านบาทต่อปี
สหวิริยาสตีลฯ ประสบความสำเร็จปรับปรุงการผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนด้วยเทคโนโลยีแสง ซินโครตรอน แก้ปัญหาการเกิดลายไม้ในผลิตภัณฑ์เหล็กลดจากร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 3 เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้กว่า 30 ล้านบาท เผยเป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จ.นครราชสีมา กับ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างปี 2553-2556 เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
นายสุนทร วสันต์เสรีกุล ผู้จัดการทั่วไป สำนักเทคโนโลยีกลุ่มบริษัท ด้านเทคโนโลยีปฏิบัติการ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยว่า ตามที่เอสเอสไอได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ กับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในปี 2553 ทำการวิจัยเพื่อภายใต้โครงการ “แสงซินโครตรอนกับกระบวนการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เหล็กรีดร้อน” นั้นผลการวิจัยร่วมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี บริษัทสามารถลดของเสียที่ไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ ที่สำคัญกว่าคือการแก้ปัญหาครั้งนี้นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ เรียกว่า เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนประเภทปรับผิวและเคลือบน้ำมัน หรือ “Clean Strip” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทั้งแก่บริษัทและลูกค้า ซึ่งคุณภาพของผิวแผ่นเหล็กไม่เป็นปัญหาในการใช้งานอีกต่อไป ลูกค้าสามารถนำไปใช้ได้ทันทีสำหรับงานที่ต้องการคุณภาพผิวเหล็กสวยพิเศษ เช่น งานชุบสังกะสี พ่นสี หรือ ทดแทนเหล็กแผ่นรีดเย็น”
นายสุนทรกล่าวว่าในกระบวนการผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วน หลังการใช้กรดกัดทำความสะอาดผิวของแผ่นเหล็กก่อนชุบน้ำมันและทำการม้วนเป็นแผ่นเหล็กรีดร้อนพร้อมส่งจำหน่ายนั้น พบว่า แผ่นเหล็กรีดร้อนบางส่วนมีลายคล้ายลายไม้ (Wood Grain) ปรากฏขึ้น ลายไม้ที่เกิดขึ้นนี้พบประมาณร้อยละ 10 ของการผลิตเหล็กรีดร้อนทั้งหมด และเป็นปัญหาต่อการนำเหล็กรีดร้อนนี้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป เอสเอสไอพบปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้สินค้าบางส่วนที่พบลายไม้ต้องขายในราคาที่ต่ำลง ทางบริษัทพยายามแก้ไขปัญหา และวิจัยถึงสาเหตุ แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ จึงนำสมมุติฐานของสาเหตุมาปรึกษากับทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และนำไปสู่การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาจนประสบผลสำเร็จดังกล่าว
“ผลการวิเคราะห์ทั้งหมดดังกล่าว ทำให้ทราบคุณลักษณะเฉพาะของลายไม้และสาเหตุที่เกิดลายไม้ขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตเหล็กรีดร้อน ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้อัตราการเกิดลายไม้บนพื้นผิวเหล็กรีดร้อนลดลงอย่างเห็นได้ชัด สำหรับการแก้ปัญหาในครั้งนี้ได้ดำเนินการในระดับการผลิต เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2555 และเริ่มติดตามผลตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ถึง ธันวาคม 2555 พบว่า ปัญหาการเกิดลายไม้ลดลงรวมจากร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 3 โดยประมาณ คิดเป็นมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 30 ล้านบาท”
ดร.วุฒิไกร บุษยาพร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “เราได้ร่วมกันทำการวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้แสงซินโครตรอนด้วยเทคนิค X-PEEM ณ ระบบลำเลียงแสง 3.2b และเทคนิค PES ณ ระบบลำเลียงแสง 3.2a สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นการรวมเทคนิคในการดูภาพขนาดเล็กเหมือนกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนทั่วไป กับเทคนิคการวิเคราะห์โครงสร้างของธาตุองค์ประกอบบนพื้นผิวด้วยแสงซินโครตรอนเข้าด้วยกัน ทีมวิจัยได้พบสาเหตุหลักของการเกิดลายไม้ มาจากความขรุขระมากกว่าปกติในบริเวณลายไม้ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการรีดร้อน และตรวจพบการตกค้างของธาตุคาร์บอนบริเวณรอยต่อของลายไม้กับบริเวณปกติ เนื่องมาจากเหล็กรีดร้อนมีการเจือธาตุคาร์บอนเข้าไปในเนื้อเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของเหล็ก เมื่อเหล็กดังกล่าวถูกรีดให้เป็นแผ่นบางที่อุณหภูมิสูง ธาตุคาร์บอนจึงเดินทางขึ้นมาอยู่ที่พื้นผิวโดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของพื้นผิวที่มีความขรุขระและพื้นผิวปกติ ทำให้รอยต่อของทั้งสองบริเวณนี้มีความเข้มของลายไม้จากการสังเกตด้วยตาเปล่ามากกว่าบริเวณอื่นๆ
ผู้จัดการทั่วไป สำนักเทคโนโลยีกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีปฏิบัติการ เอสเอสไอกล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทยังมีโครงการวิจัยพัฒนาเหล็กแผ่นให้มีความสามารถในการขึ้นรูปสูงกับทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ขณะนี้โครงการคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้แสงซินโครตรอนนับเป็นเครื่องมือวิจัยทางเลือกใหม่ ที่เครื่องมืออื่นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายนักวิจัยที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกสาขาอีกด้วย