เนื้อหาวันที่ : 2007-05-30 09:33:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1738 views

เกริกไกร เชื่อหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นดันส่งออกโตต่อเนื่อง

"เกริกไกร จีระแพทย์" กระทุ้งภาคเอกชนใช้ข้อได้เปรียบตามกรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นผลักดันการส่งออกสินค้าในตลาดญี่ปุ่นในช่วงระยะ 1-2 ปีให้มากที่สุด พร้อมระบุเมื่อกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นมีผลทางปฏิบัติจะทำให้ไทยสูญเสียด้านการแข่งขัน

"เกริกไกร จีระแพทย์" กระทุ้งภาคเอกชนใช้ข้อได้เปรียบตามกรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นผลักดันการส่งออกสินค้าในตลาดญี่ปุ่นในช่วงระยะ 1-2 ปีให้มากที่สุด พร้อมระบุเมื่อกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นมีผลทางปฏิบัติจะทำให้ไทยสูญเสียด้านการแข่งขันบ้าง แต่ยังเชื่อว่าหากภาคเอกชนมีความตั้งใจพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถจริง สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ขณะที่ภาคเอกชนแนะแม้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นเกิดขึ้น กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นก็ไม่ควรยกเลิก เพราะญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่ดีต่อไทยมานาน

.

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการจัดงานสัมมนา "การใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา)" ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเตรียมความพร้อม หลังจากไทยและญี่ปุ่นลงนามข้อตกลงดังกล่าวในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าความตกลงตามกรอบเจเทปา จะมีผลทางปฏิบัติก่อนสิ้นปี 2550

.

นายเกริกไกร กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมทุกกลุ่มจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษา ซึ่งขณะนี้ไทยจะต้องนำข้อได้เปรียบตามกรอบเจเทปาที่มีการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 โดยต้องใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ให้มากที่สุด เพราะขณะนี้ทางกลุ่มอาเซียนอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงตามกรอบเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า การลดภาษีในกลุ่มอาเซียน-ญี่ปุ่นจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นจะต้องใช้กรอบข้อตกลงเจเทปาในการลดภาษีร้อยละ 0 และการได้เปรียบทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ การพัฒนาบุคลากรให้ได้มากที่สุด เพราะถ้ากรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นมีผลบังคับใช้ การได้เปรียบตามกรอบเจเทปาไทยจะลดน้อยลง

.

นายเกริกไกร กล่าวว่า ความสำคัญในเชิงการค้า การลงทุน และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมาช้านาน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมองไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีที่สุด มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นประเทศเหมาะสมที่จะลงทุน ดังนั้นการเจรจาภายใต้กรอบเจเทปาที่ทั้ง 2 ประเทศได้เจรจามานานถึง 5 ปี 5 คณะรัฐมนตรีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากดูในแง่การค้า ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศอันดับ 1 ของไทย ในการส่งออกและการลงทุน และหากดูย้อนหลังเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ไทยได้ดำเนินการเจรจาตามกรอบพันธกรณีในการเปิดเขตการค้าต่าง ๆ ถือว่าดำเนินการอย่างถูกต้อง เพราะหากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ ขณะที่กลุ่มประเทศต่าง ๆ มีการเจรจาภายใต้กรอบเอฟทีเอ ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ก็จะทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ หากมองยอดการส่งออกแต่ละปี หลังจากไทยได้เข้าสู่กระบวนการเปิดเขตการค้าเสรี การส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายยังกังวลว่าไทยจะเสียเปรียบในการลงนามภายใต้กรอบเอฟทีเอ ซึ่งการเจรจาตกลงย่อมมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ แต่กรณีกรอบเจเทปา ยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความได้เปรียบ อีกทั้งญี่ปุ่นไม่ได้มาลงลึกในกลุ่มสินค้าภาคการเกษตร หากมองลึกนอกเหนือจากการเพิ่มมูลค่าในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิต และยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเช่นกัน

.

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมไทยอย่าตื่นตระหนกกรณีที่สหรัฐประกาศเลื่อนอันดับประเทศจับตามองเป็นจับตามองเป็นพิเศษกรณีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่รู้ว่าคนไทยจะตื่นตระหนกหรือตื่นเต้นไปทำไม เพราะเมื่อสหรัฐประกาศก็ต้องมีการเจรจาและดำเนินการตามกรอบกติกาที่อยู่ในพันธกรณีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะขณะนี้กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รุดหน้าเจรจา จึงเป็นสิ่งที่ไทยจะอยู่เฉยไม่ได้ โดยเฉพาะความเป็นพันธมิตรในกลุ่มอาเซียน เพราะหลังจากนี้ไปตามกรอบอาเซียนจะมีการเจรจากับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดเสรีทางการค้าและบริการให้ ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับตัวเอง

.

ทั้งนี้ แม้ภายใต้กรอบเจเทปาจะยังไม่มีผลทางปฏิบัติ แต่หากดูในแง่มูลค่าการส่งออกที่ไทยส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกเดือนมกราคม-มีนาคม ไทยส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น 4,518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 โดยตั้งเป้าหมายปี 2550 การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นจะมีมูลค่าถึง 17,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และเชื่อมั่นว่าหลังจากเจเทปามีผลในทางปฏิบัติ มูลค่าการส่งออกสินค้าไปตลาดญี่ปุ่นจะมีอัตราสูงขึ้นแน่นอน

.

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยจะต้องใช้สิทธิตามกรอบเจเทปาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้อย่างจริงจัง ซึ่งกรอบระยะเวลาหลังจากอาเซียน-ญี่ปุ่นเกิดขึ้นจริงในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปีหลังจากนี้ เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการจะนิ่งนอนใจไม่ได้ จะต้องมีการปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังเห็นว่าตามกรอบข้อตกลงเจเทปา แม้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นจะเกิดขึ้น และอาจทำให้การใช้ประโยชน์ในเรื่องภาษีลดลง แต่สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ทางญี่ปุ่นให้กับไทยยังมีอีกมาก จึงเชื่อว่ากรอบเจเทปายังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยไปอีกหลายปี

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลตามกรอบเจเทปา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ทางญี่ปุ่นไม่ลดภาษีให้กับไทยในช่วงระยะเวลา 10 ปี เพราะต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการปรับตัว ดังนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากนี้ เชื่อว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กของไทยน่าจะสามารถปรับตัวที่จะแข่งขันกับอุตสาหกรรมเหล็กทั้งญี่ปุ่นและหลายประเทศได้ โดยยังเชื่อว่าในช่วงระยะเวลา 2 ปีหลังจากนี้ อุตสาหกรรมและบริการของไทยจะต้องใช้สิทธิประโยชน์ตามกรอบเจเทปา โดยเข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะหากไทยเข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่นมากขึ้นก่อนประเทศอื่น จะทำให้ได้เปรียบการค้ากว่าประเทศอื่น แม้จะมีกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นก็ตาม

.

ซึ่งความเห็นส่วนตัวตามกรอบเจเทปา ประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับไทยมาตลอด ยิ่งตามกรอบเจเทปา ญี่ปุ่นจะทำการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็ง และในเร็ว ๆ นี้ทางภาคเอกชนจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการชี้แจงแนะนำและหาพันธมิตรใหม่ ๆ ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ