เนื้อหาวันที่ : 2013-02-11 12:01:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2043 views

สนพ.ปลื้ม โรงงานอุตสาหกรรมสมัครเข้าร่วมผลิตก๊าซชีวภาพ ทะลุเป้า

โรงงานอุตสาหกรรมสมัครเข้าร่วมผลิตก๊าซชีวภาพ รวม 5 ปี 409 ระบบ คาดทดแทนพลังงานได้ 7,356 ล้านบาท

  สนพ. ปลื้ม ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม แห่ขอรับการสนับสนุนผลิตก๊าซชีวภาพทะลุเป้า 5 ปี 409 ระบบ คาดผลิตก๊าซชีวภาพได้รวม 1,415 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นมูลค่าทดแทนพลังงานได้ 7,356 ล้านบาท

 นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ สนพ. ได้ดำเนิน “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2551 - 2555” เพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำเสีย หรือของเสียที่เหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรม มาแปรรูปเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปความร้อนและไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน 5 ปี จำนวน 338 แห่ง ผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 637 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,950 ล้านบาท/ปี ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้ดำเนินมาจนสิ้นสุดโครงการแล้ว และเป็นที่น่ายินดีว่ามีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 414 ระบบ สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้

ทั้งนี้ ในปี 2555 มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รวม 283 ระบบ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแป้ง 25 ระบบ ปาล์ม 55 ระบบ เอทานอล 6 ระบบ น้ำยางข้น 2 ระบบ แปรรูปอาหาร 24 ระบบ และอื่นๆ 171 ระบบ ซึ่งเมื่อรวมกับผู้ประกอบการฯ ที่ยื่นข้อเสนอในช่วงปี 2551 – 2554 จำนวน 126 ระบบ จะทำให้มีผู้ประกอบการฯ เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 409 ระบบ โดย สนพ. ได้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ผู้ประกอบการฯ แล้ว รวมเป็นเงิน 3,964 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 1,415 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 300 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555 – 2564) หรือแผน AEDP และผลิตความร้อนได้ประมาณ 454 ktoeต่อปี คิดเป็นร้อยละ 45.4 ของแผน AEDP รวมมูลค่าทดแทนพลังงานได้ทั้งสิ้น 7,356 ล้านบาทต่อปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สนพ. ได้มีการส่งเสริมให้มีการนำน้ำเสีย ของเสีย หรือขยะอินทรีย์ที่เหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศได้แล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซมีเทนอันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งผลที่ได้รับถือว่าคุ้มค่า ทั้งนี้ก้าวต่อไปของการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพของ สนพ. ก็คือ การนำหญ้าเลี้ยงช้างมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล” ผอ.สนพ.กล่าว