เนื้อหาวันที่ : 2013-02-04 12:59:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1491 views

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อก้าวสู่ตลาดการค้าโลก

สวทช.ระดมนักวิชาการ จัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อก้าวสู่ตลาดการค้าโลก

สวทช. ระดมนักวิชาการ จัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อก้าวสู่ตลาดการค้าโลก พร้อมจัดการประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ในวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ นี้ ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยก้าวสู่ตลาดการค้าโลก ว่า อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร มีความสำคัญในแง่ความมั่นคงของประเทศด้านอาหาร

โดยการพึ่งพาสายพันธุ์ที่พัฒนาเองในประเทศ การผลิตเมล็ดพันธุ์สร้างผลกระทบในแง่ของอาชีพและรายได้ต่อเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย การผลิตเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์ลูกผสม เป็นการเกษตรแบบปราณีต อาศัยเกษตรกรที่มีฝีมือ มีความซื่อสัตย์ แต่ก็นับว่าให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อหน่วยพื้นที่ เป็นอาชีพเสริมหลังนาที่น่าสนใจ

 เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 25,000 – 30,000 บาท/เดือน ใช้พื้นที่เพียง 2 งาน หรือประมาณ 1 ไร่ ประเทศไทยมีศักยภาพก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของเอเชีย ดังนั้น สวทช. จึงเดินหน้าสร้างกลยุทธ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย โดยร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน สมาคมต่าง ๆ

อาทิ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย จัดทำยุทธศาสตร์เมล็ดพันธุ์ (ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2549 – 2553 และระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2554 – 2559) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ การสร้างสายพันธุ์พ่อแม่ของไทยเอง เพิ่มมูลค่าการส่งออกภายใต้ Thailand Brand ให้ได้ 5,000 ล้านบาทภายในปี 2559


ทั้งนี้ สวทช.เตรียมจัดการประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ในวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ นี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดนในงานจะมีการนำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารภาครัฐ และภาคธุรกิจ ตลาดนัดนักวิจัยกับภาคเอกชน และการแสดงนิทรรศการพันธุ์พืชใหม่ ๆ เช่น พันธุ์พริก อัคนีพิโรธ ที่มีความเผ็ดสูง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา พันธุ์มะเขือเทศอุตสาหกรรมต้านทานโรคใบหงิกเหลืองและโรคเหี่ยวเขียว พันธุ์ข้าวโพดหวานสีแดง

 

ภาพประกอบ : bigstory.ap.org