เนื้อหาวันที่ : 2007-05-29 08:55:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1822 views

บีโอไอหนุนธุรกิจไทยลงทุนในอินโดนีเซีย รัฐฯ อิเหนา ยกเครื่องกฎหมายลงทุนใหม่

อินโดนีเซียประกาศยกเครื่องกฎหมาย และกฎระเบียบทั้งหมด เพื่อให้สามารถเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ บีโอไอหนุนธุรกิจไทยไปลงทุนในธุรกิจน้ำตาล ธุรกิจยาง เพาะปลูกปาล์ม ประมง สินค้าอุปโภคบริโภค ไฟฟ้า และถนน

อินโดนีเซียประกาศยกเครื่องกฎหมาย และกฎระเบียบทั้งหมด เพื่อให้สามารถเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ บีโอไอหนุนธุรกิจไทยไปลงทุนในธุรกิจน้ำตาล ธุรกิจยาง เพาะปลูกปาล์ม ประมง สินค้าอุปโภคบริโภค ไฟฟ้า และถนน

.

นางวิบูลย์พรรณ จันทรโชติ ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปดูลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และสถานทูตอินโดเซีย ระหว่างวันที่ 21 – 24 พฤษภาคม 2550 ว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศจุดยืนในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยจะมีการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุน อาทิ เรื่องการถือครองที่ดินได้เป็นเวลานานขึ้น และการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งจะมีการประกาศกฎระเบียบใหม่ในลำดับต่อไป

.

"อินโดนีเซียมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก และมีแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียจะถูกกำหนดให้ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนอินโดนีเซีย จึงทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศไม่มาก แต่ในวันนี้ อินโดนีเซียได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างจริงจังในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสอันดีของนักธุรกิจไทยด้วย" ผู้ช่วยเลขาธิการบีโอไอกล่าว

.

สำหรับอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยน่าจะมีโอกาสค่อนข้างมากคือภาคเกษตร เช่น การทำสวนปาล์ม ยางพารา อ้อยและน้ำตาล และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยเป็นจำนวนมาก ประกอบกับชาวอินโดนีเซียให้การยอมรับในคุณภาพของสินค้าไทยมานาน ทำให้ยิ่งมีโอกาสมากในการเข้าไปลงทุน

.

"แม้ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานในอินโดนีเซียจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่าตัว แต่จากการสอบถามนักธุรกิจไทย ที่ลงทุนในอินโดนีเซียมานานกว่า 10 ปี ต่างยืนยันจะเข้ามาลงทุน เพราะธุรกิจในอินโดนีเซียสามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดี" นางวิบูลย์พรรณกล่าว 

.

นอกจากจะมีจุดเด่นในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติแล้ว อินโดนีเซียยังมีตลาดขนาดใหญ่ และเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป ได้โดยไม่ถูกจำกัดโควต้าอีกด้วย ซึ่งมีนักลงทุนไทยได้เข้าไปลงทุนใกล้กับกรุงจาร์กาตามากว่า 30 ปี โดยผลิตชุดชั้นในแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ (ทอผ้า ฟอกย้อม) ไปจนถึงการผลิต ส่งจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา และยุโรป

.
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังมีข้อจำกัดในเรื่องสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า เส้นทางคมนาคมขนส่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่นักธุรกิจไทยจะมีโอกาสเข้าไปลงทุน
.

ทั้งนี้ การจะไปลงทุนในประเทศใดก็ตาม นักธุรกิจไทยต้องเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นด้วย เพื่อให้ทราบถึงวิธีคิดของผู้คน ซึ่งจะสะท้อนออกมาในการดำเนินธูรกิจด้วย