ของขวัญปีใหม่กับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ได้เกิดผลกระทบขึ้นทั้งด้านบวกและด้านลบต่อผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
ของขวัญปีใหม่กับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ได้เกิดผลกระทบขึ้นทั้งด้านบวกและด้านลบต่อผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เช่น ในจังหวัดนครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และจังหวัดสระแก้ว เป็นต้น
นางอัษฏาลักษณ์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เผยว่า ในพื้นที่ 32 อำเภอ มีสถานประกอบการ 8,452 แห่ง มีลูกจ้างกว่า 2 แสนคนที่ต้องได้ปรับขึ้นค่าแรง หลายโรงงานได้เลิกจ้างพนักงาน แต่ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากผลกระทบการขึ้นค่าแรง แต่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป หรือการไม่สั่งซื้อสินค้าทำให้ต้องปรับลดพนักงานสายการผลิตลง
นางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยังไม่เห็นผลกระทบว่ามีการปิดกิจการหรือปลดคนงาน แต่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ไป ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อปลายปี 2555 มีบริษัทปิดกิจการกว่า 20 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลกระทบจากยูโรโซน
นางชัญาดา เจริญพร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงช่วงปลายปีมีบริษัทปิดกิจการ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอาหารแช่แข็ง เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ โดยปลดพนักงาน 400-500 คน สาเหตุคาดว่าประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ การสั่งซื้อสินค้าน้อยลง และนโยบายค่าแรง ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรปราการเป็น 1 ใน 7 จังหวัดนำร่องขึ้นค่าแรง 300 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2555 ลูกจ้างร้องเรียนว่านายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามนโยบายผู้ประกอบการบางรายนำสวัสดิการอื่นมารวมกับค่าแรงเพื่อให้ได้ 300 บาท เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่ารถ ค่าล่วงเวลา เป็นต้น
นายทเนตร นาคแย้ม นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ยังไม่เห็นสัญญาณการปิดกิจการและการเลิกจ้าง เพราะผู้ประกอบการมีการปรับตัวโดยการลดต้นทุน เช่น ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ สำหรับโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ปิดกิจการเพราะขาดสภาพคล่องมากกว่า
นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เผยว่า สถานประกอบการเริ่มได้รับผลกระทบจากค่าแรงแล้ว บางแห่งเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการจ้างแรงงานตามบ้าน ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากภาษี ส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะทะลักเข้ามา จังหวัดได้ประสานกับกองทัพเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยแยกแรงงานเป็น 2 ส่วน คือ แรงงานถูกกฎหมาย กับแรงงานชั่วคราวหรือรายวัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ลดเวลาทำงานเหลือ 5 วัน/สัปดาห์ และจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจต้องผลักภาระให้กับผู้บริโภคโดยขึ้นราคาสินค้า และบางส่วนผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไว้เอง
สรุปโดยรวมวิธีปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท มีวิธีหลีกเลี่ยงผลกระทบต่าง ๆ กัน เช่น การเลิกจ้างคนงานบางส่วน การปิดกิจการ การยุบรวมสำนักงานหรือสาขาย่อย การลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา การจ้างงานเป็นรายวัน/รายชิ้น การนำค่าอาหาร ค่ารถ มารวมกับค่าแรงให้ได้ 300 บาท หยุดรับพนักงานใหม่เพิ่ม จ้างแรงงานตามบ้าน ไม่ขึ้นค่าแรงในช่วง 2 ปีข้างหน้า และย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์
ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์