เนื้อหาวันที่ : 2007-05-28 10:49:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1566 views

เชลล์ ชนปตท.ปล่อยราคาน้ำมัน

เชลล์สุดทนปตท.ชะลอปรับราคาน้ำมันตามใบสั่งรัฐบาล ชี้ 3 เดือนขาดทุนทั้งระบบแล้ว1,650 ล้านบาท จี้ใช้3 ทางให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่นที่สูงลิ่ว ลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และให้ปตท.ปรับราคาตามตลาดโลก

.

เชลล์สุดทนปตท.ชะลอปรับราคาน้ำมันตามใบสั่งรัฐบาล เตรียมตบเท้าเข้าหารือ"ปิยสวัสด์" ต้นมิ.ย. แก้ปัญหา ชี้ 3 เดือนที่ผ่านมา ขาดทุนทั้งระบบแล้ว1,650 ล้านบาท จี้ใช้3 ทางให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่นที่สูงลิ่ว ลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และให้ปตท.ปรับราคาตามตลาดโลก อัดหากเป็นต่างประเทศผิดพรบ.แข่งขันการค้าแน่ ขณะที่ราคาน้ำมันเตรียมปรับอีก 40 ส.ต.ทำสถิตินิวไฮ ในสัปดาห์นี้

.

นายธีรพจน์ วัชราภัย ประธานกรรมการบริษัท เชลล์ในประเทศไทย จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับตัวมาอยู่ที่ 66.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส 63.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ 71.93 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ปรับตัวมาอยู่ที่ 89.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดีเซล 83.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

.

แต่บริษัทน้ำมันไม่สามารถปรับราคาขายปลีกน้ำมันขึ้นได้ทันตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ขึ้นสูงไปได้ เนื่องจากทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 34 % ไม่ยอมปรับราคาขึ้นไป ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ ไม่สามารถปรับขึ้นราคาน้ำมันขึ้นได้ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

.

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินมาตลอดในช่วง 3 เดือนนี้ โดยมีค่าการตลาดของน้ำมันเบนซินและดีเซลเฉลี่ยอยู่ประมาณ ลิตรละ 90 สตางค์เท่านั้น ทั้งที่ค่าการตลลาดที่เหมาะสมที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ควรอยู่ประมาณ 1.15 บาทต่อลิตร เป็นอย่างต่ำ จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันขาดทุนอยู่ 25 สตางค์ต่อลิตร

.

ทั้งนี้ หากประเมินยอดการจำหน่ายน้ำมันเบนซินทุกผลิตภัณฑ์เดือนละประมาณ 600 ล้านลิตรต่อเดือน และดีเซลประมาณ 1,600 ล้านลิตรต่อเดือน คำนวณด้วยการขาดทุนลิตรละ 25 สตางค์แล้ว ทั้งระบบจะมีการขาดทุนแล้วประมาณ 1,650 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของเชลล์ประมาณ 188 ล้านบาท และหากปตท.ยังชะลอการปรับราคาน้ำมันต่อไป จะยิ่งส่งผลต่อการขาดทุนมากยิ่งขึ้น เหมือนกับปี 2548 ที่มีการขาดทุนทั้งระบบกว่า 6,000 ล้านบาท

.

นายธีรพจน์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2550 นี้ ทางบริษัทน้ำมันจะรวมตัวกัน เข้าพบนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือในเรื่องนี้ ว่าจะแก้ปัญหาให้บริษัทน้ำมันอยู่รอดได้อย่างไร และไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค มากเกินไปโดยจะมีการเสนอทางออกให้รัฐบาลใน 3 แนวทาง

.

โดยแนวทางแรกจะให้ทางปตท.ปรับราคาน้ำมันขึ้นลงสะท้อนต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นจริง และแนวทางที่ 2 หากไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวสูงขึ้นจากนี้ไป รัฐบาลควรจะลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากการตรึงราคาน้ำมันครั้งก่อนลงมาจากปัจจุบันเก็บจากน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ลิตรละ 3.46 บาท น้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ลิตรละ 3.26 บาท และดีเซล 1.50 บาทต่อลิตร และแนวทางที่ 3 เห็นว่าเวลานี้มีกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันสูงถึง 2.76 บาทต่อลิตร ควรที่จะให้โรงกลั่นน้ำมันปรับลดค่าการกลั่นลงมาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคบ้าง ไม่ใช่ให้ผู้ค้าน้ำมันรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว

.

"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ไปบ้างแล้ว ซึ่งสนพ.ก็รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าค่าการตลาดและยอดขายของบริษัทน้ำมัน และขาดทุนเป็นอย่างไร แต่ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะสนพ.มองว่าเป็นกลไกของตลาด ทำให้ต้องเข้าพบนายปิยสวัสดิ์ อีกครั้ง เพื่อให้เข้ามาดูแลผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคู่กันไม่ด้วย เพราะหากให้ผู้ค้าน้ำมันรับอยู่ฝ่ายเดียวก็จะไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น"

.

นายธีรพจน์ กล่าวเสริมอีกว่า หากยังให้ปตท.ดำเนินชะลอการปรับราคาน้ำมันต่อไปเช่นนี้ จะส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันไม่มีกำไรไปปรับปรุงการบริการ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ที่สำคัญ ในฐานะที่ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันมากที่สุด การชะลอปรับราคาขึ้นไปก็ส่งผลต่อการขาดทุนของปตท.มาขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าปตท.ทำได้อย่างไร

.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางบริษัทน้ำมันต่างๆ กำลังจับตาดูว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว จะมีผลใช้บังคับได้เมื่อใด เนื่องจากการกระทำของปตท.เวลานี้เท่ากับว่าทำตัวอยู่เหนือตลาด ทำการค้าในลักษณะขาดทุน จนทำให้ผู้ค้ารายอื่นๆ อย่างคิวเอทและเจ็ทอยู่ไม่ได้และต้องขายกิจการทิ้งไปแล้ว ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้หากเกิดในต่างประเทศถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลออกมา จะทำให้สถานการณ์ในลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะปตท.จะเข้ามาอยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้ จากปัจจุบันได้รับการยกเว้นเนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ

.

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์หนี้ หากดูแนวโน้มการปรับราคาน้ำมันครั้งล่าสุด บริษัทน้ำมันจะยังต้องแบกรับภาระอยู่ประมาณ 60 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสัปดาห์นี้จะปรับราคาขึ้นไปอีก 40 สตางค์ต่อลิตร โดยจะส่งผลให้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ปรับมาอยู่ที่ 30.79 บาทต่อลิตร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากที่ปีก่อนขึ้นมาสูงสุดที่ 30.59 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 ส่วนจะปรับขึ้นได้หรือไม่นั้นขึ้นกับผู้ค้ารายใหญ่อย่างปตท.จะปรับหรือไม่ แต่เท่าที่สังเกตทางปตท.จะทำการปรับราคาขายปลีกขึ้นไปสัปดาห์ละครั้ง

.

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การที่ปตท.ชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ไม่ได้คำสั่งหรือการแทรกแซงจากรัฐบาลแต่อย่างใน แต่ในฐานะที่เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ พยายามที่จะให้ผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งยอมรับว่าตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมาราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ปตท.ต้องแบกรับภาระจากการชะลอปรับราคาน้ำมันไปแล้วว่าเดือนละ 100 ล้านบาท

.

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาส่งเรือรบไปยังอ่าวเปอร์เซียเพิ่มขึ้น เพื่อกดดันการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่วนจะปรับราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้

.

สำหรับราคาน้ำมันที่มีราคาสูงอยู่ในเวลานี้ หากดูจากโครงสร้างราคาน้ำมัน ส่วนใหญ่จะมีผลจากการที่รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันในอัตราที่สูง เพื่อนำไปชำระหนี้คืนสถาบันการเงินที่กู้มาเพื่อใช้ในการตรึงราคาน้ำมันระหว่างปี 2547-2548 ซึ่งปัจจุบันยังมีหนี้ค้างอยู่ประมาณ 4,844 ล้านบาท และเป็นหนี้พันธบัตรเหลืออยู่ 17,600 ล้านบาท 

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ