เนื้อหาวันที่ : 2013-01-18 13:48:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2114 views

นิทรรศการจิตรกรรมนามธรรม Echo

เชิญชมนิทรรศการจิตรกรรมนามธรรม Echo โดยสุจินต์ วัฒนวงศ์ชัย

Echo โดย สุจินต์ วัฒนวงศ์ชัย ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 – 16 มีนาคม 2556

พิธีเปิดนิทรรศการ วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 18.00-21.00 น.

การบรรยายโดยศิลปิน วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 13.30-15.00 น.

จากเสียงก้องที่มีอยู่ภายในจิตใจ สุจินต์ วัฒนวงศ์ชัย ถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ความรู้สึกออกมาเพื่อสะท้อนสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่รอบตัวศิลปิน ผลงานจิตรกรรมกว่า 20 ชิ้น เป็นการสำรวจสัมพันธภาพระหว่างสถานที่ เวลา พื้นที่ และการรับรู้ ผ่านมิติของการเติบโต ใช้ชีวิต และทำงานศิลปะ ทั้งในบริบทสังคมเมืองและชนบท รวมถึงการท่องเที่ยวและเดินทางไปแสดงงานในต่างประเทศ ศิลปินเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกปัจจุบัน ที่มีทั้งความกลมกลืน ขัดแย้ง และคลุมเครือ และนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานนามธรรมที่อาศัยตัวอักษรในการโน้มนำให้ผู้ดูตีความและหาความหมายให้กับตนเอง

ถ้อยแถลงศิลปิน

ชื่อนิทรรศการครั้งนี้เป็นการแนะถึงการสำรวจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ เวลา พื้นที่ และการรับรู้ ที่ผมสนใจอยู่
กรุงเทพคือเมืองหลากหลายวัฒนธรรมที่ผมเติบโตขึ้นมา ใช้ชีวิตและทำงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผมก็มีสตูดิโออยู่ในชนบทที่นครปฐมด้วย ซึ่งผมชอบที่จะทำงานทั้งในกรุงเทพและที่นครปฐม

ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมมีชีวิตอยู่ในครอบครัวชาวจีนซึ่งเป็นวัฒนธรรมจากฝั่งพ่อ อาศัยอยู่ในเมืองและเรียนรู้วัฒนธรรมจีนต่างๆ ส่วนในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ผมก็จะไปอยู่กับครอบครัวไทยในชนบท ซึ่งเป็นฝั่งแม่ ที่ซึ่งผมได้เห็นวิถีชีวิตแบบไทยๆ ฉะนั้น ผมจึงมีสองวัฒนธรรมในตัวเอง มีความแตกต่างและกลมกลืนที่กลายเป็นหนึ่ง

ทุกวันนี้ เราอ่านข้อความจากอินเตอร์เน็ตแทนหนังสือเป็นส่วนใหญ่ เราส่งข้อความหาเพื่อนแทนที่จะพูดคุยด้วย พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป ชีวิตมนุษย์วุ่นวายกว่าที่เคยและก็เงียบเหงากว่าที่เคยด้วยเช่นกัน ผมเฝ้ามองดูวิถีชีวิตคนในช่วงวันทำงานอยู่ตลอด การค้นคว้าในกระบวนการทำงานที่มีนัยยะซ่อนอยู่ในบริบททางสังคม รวมทั้งการใช้ชีวิต ผมใช้ตัวอักษรภาษาไทย จีน และอังกฤษในการสร้างงานจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนทั้งบริบทระดับประเทศและระดับโลก

ผมใช้เส้น ข้อความ และสีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน เส้นที่เป็นคลื่นกลายมาเป็นรูปแบบและรูปทรงที่ซับซ้อน ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตผู้คนที่หลากหลายตามความคิดของผม ตัวอักษรเล็กๆ ทำให้ตามองเห็นว่าเป็นเส้น พื้นผิว จังหวะ ความกลมกลืน ความขัดแย้ง บนสี แต่เมื่อมองดูใกล้ๆ จึงเห็นว่าเป็นคำพูด ความรวดเร็วจนเกินไปในชีวิตปัจจุบันคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ และเราก็มีความเชื่อแบบนั้น บางครั้งเรามองสิ่งต่างๆ ผ่านไปโดยที่ไม่ได้สนใจที่จะดูอย่างละเอียดหรือค้นหาความหมายของมัน อาจหมายถึงความฉาบฉวยในการใช้ชีวิตก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังสร้างความคลุมเครือในการสื่อความหมายและการตีความ งานผมใช้การวาดเส้นแทนจิตรกรรม ใช้ข้อความเป็นศิลปะ และใช้ภาษาภาพแทนความเป็นนามธรรม ภาพรวมทั้งหมดของงาน ถูกคลี่คลายให้เหลือเพียงความเรียบง่าย พลัง เสียง และชีวิตที่มีสีสัน