เนื้อหาวันที่ : 2013-01-18 10:48:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1971 views

ไทยเชียร์พันธมิตรน้ำตาลโลกเรียกร้องเลิกอุดหนุนการส่งออก

ชี้เป็นรูปแบบการค้าที่ไม่ยั่งยืนและไม่เหมาะสมกับการค้าในศตวรรษที่ 21 ด้าน

ไทยเชียร์กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก (GSA) เรียกร้องประเทศพัฒนาแล้วยุติการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย ชี้เป็นรูปแบบการค้าที่ไม่ยั่งยืนและไม่เหมาะสมกับการค้าในศตวรรษที่ 21 ด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเชื่อหากเรียกร้องสำเร็จจะทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลทรายได้มากขึ้นอีก ส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย

นายเชิดพงษ์  สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance - GSA) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การประชุมประจำปีของกลุ่ม GSA ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ส่งออกน้ำตาลทรายจากอ้อยที่มีปริมาณกว่า 85% ของทั้งโลก ได้มีมติผลักดันให้สหภาพยุโรป หรืออียู ปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก หรือ WTO อย่างเร่งด่วนในกรณีการยกเลิกการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย เนื่องจากปัจจุบัน สหภาพยุโรป ยังคงผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายส่วนเกิน ที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าได้รับการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก

ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จึงสนับสนุนให้กลุ่ม GSA เรียกร้องให้สหภาพยุโรปต้องปฏิบัติพันธกรณี เพื่อป้องกันการบิดเบือนราคาที่ทำให้ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สูญเสียโอกาสทางด้านการค้า ซึ่งหากกลุ่ม GSA สามารถผลักดันเรื่องดังกล่าวสำเร็จ คาดว่า จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่จะมีโอกาสส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทย

ไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกต้องร่วมกับกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก (GSA) ในการผลักดันประเทศต่างๆ ให้เปิดเสรีการค้าสินค้าน้ำตาลทรายให้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และมีเม็ดเงินกระจายไปสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในชนบทมากยิ่งขึ้น” นายเชิดพงษ์ กล่าว

ด้านนายเกร็ก  บีเชล ประธานกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก กล่าวว่า หากทางกลุ่มไม่เร่งผลักดันในเรื่องนี้ ความสำคัญขององค์การการค้าโลกก็จะไม่ได้รับความสนใจ เพราะถูกบดบังจากข้อตกลงการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ซึ่งการอุดหนุนราคาน้ำตาลทรายเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ส่งผลเสียหายต่อประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่มีศักยภาพและมีต้นทุนการผลิตต่ำ

ทั้งนี้ กลุ่ม GSA จะมุ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาทางเลือกทั้งหมดเพื่อสนับสนุนให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาสามารถบรรลุข้อยุติได้ โดยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อปี 2548 ที่ประกาศจะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกในช่วงปลายปี 2556 เนื่องจากกลุ่ม GSA มองว่า การเปิดตลาดโดยอาศัยกลไกการตลาด จะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของโลกได้ดีกว่ารูปแบบการค้าด้วยการอุดหนุนการส่งออก หรือการจำกัดโควตาการผลิต การตั้งภาษีนำเข้า และข้อจำกัดด้านการนำเข้าอื่นๆ เพื่ออุดหนุนราคาน้ำตาลทราย ซึ่งถือเป็นรูปแบบการค้าที่ไม่ยั่งยืนและไม่เหมาะสมกับกับการค้าในยุคศตวรรษที่ 21