เนื้อหาวันที่ : 2007-05-25 10:28:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1517 views

สศอ. ชี้ขีดแข่งขัน อุตฯ ลด ฉุดส่วนแบ่งตลาดติดลบ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมรายสาขา ในช่วงไตรมาสแรกและแนวโน้มสิ้นปี 2550 ว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะความสามารถในแข่งขันลดลงอย่างต่อเนื่อง

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมรายสาขา ในช่วงไตรมาสแรกและแนวโน้มสิ้นปี 2550 ว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะความสามารถในแข่งขันลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัว โดยในไตรมาสแรก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อยู่ที่ 168.7 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8.7% เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังผลิตก็มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง ทำให้สศอ.ต้องปรับตัวเลขการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมลง จาก 5.5-6.5% เหลือ 5%

.

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาวะอุตสาหกรรมรายสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ พบว่าแม้ไตรมาสแรกของอุตสาหกรรมหลายกลุ่มยังขยายตัวได้ดี เช่น การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เหล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่าขยายตัวในอัตราลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ สิ่งทอต้นน้ำ โทรทัศน์ วัสดุก่อสร้าง และรถยนต์ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงมาจากการแข็งค่าของเงินบาท ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในด้านอื่นๆ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ ดัชนีการผลิตอยู่ที่ 147.5 เพิ่มขึ้น 3% แต่ทั้งปีมีแนวโน้มขยายตัวลดลง 10.3% ส่วนอุตสาหกรรมผลิตสุขภัณฑ์มีทิศทางลดลงจากปีก่อน 5.4% เนื่องจากภาคการก่อสร้างซบเซาอย่างต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐในการลงทุนโครงการพื้นฐาน โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลงมาก สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะการผลิต เพิ่มขึ้น 4% และมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 11.7% โดยแนวโน้มการส่งออกรถยนต์ทั้งปีขยายตัว 4% ซึ่งลดลงจากปีก่อนเพราะตลาดเริ่มอิ่มตัว

.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ