กระทรวงคมนาคม นำระบบเทคโนโลยีการขนส่งทางถนนมาใช้ควบคุมรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกขนส่งสินค้าทุกประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้ามากขึ้น
กระทรวงคมนาคม นำระบบเทคโนโลยีการขนส่งทางถนนมาใช้ควบคุมรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกขนส่งสินค้าทุกประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้ามากขึ้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแลการขนส่งทางถนน” เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางราง ระบบรถไฟความเร็วสูง แต่ปัจจุบันการขนส่งทางถนนยังถือเป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งของประเทศ โดยสินค้าร้อยละ 85 เป็นการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกและรถยนต์ ดังนั้น จึงไม่อาจละเลยถึงความปลอดภัย
โดยกำชับกรมการขนส่งทางบกให้นำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมระบบการขนส่งของการขนส่งสินค้าทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งนี้ จากสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในอาเซียนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิต 12,000-16,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี หรือมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ดังนั้น กระทรวงคมนาคมได้นำร่องติดตั้งเครื่องตรวจจับความเร็ว หรือ GPS ในรถโดยสารสาธารณะของบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และจะขยายไปรถร่วมบริการ รวมถึงรถตู้สาธารณะ โดยกำหนดให้ติดตั้งจีพีเอสให้เสร็จภายในปีนี้ และที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ได้ติดตั้งระบบตรวจจับความเร็ว หรือ RFID บนรถตู้โดยสารสาธารณะไปแล้ว ส่งผลให้ความเร็วรถตู้ลดลงจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 20
นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีด้านการขนส่งมาใช้จะสามารถลดต้นทุนค่าขนส่ง และพลังงาน เพราะปัจจุบันไทยใช้พลังงานในการขนส่งสูงถึง 700,000 ล้านบาทต่อปี และภายใน 1-2 ปี กรมการขนส่งทางบกจะนำระบบจีพีเอสเข้ามาใช้ในการบริหารการขนส่งทางถนนมากขึ้น ทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการจัดการเดินรถด้วยระบบจีพีเอส ให้เสร็จก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ พร้อมทั้งกำหนดให้รถบรรทุกวัตถุอันตราย และรถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี เป็นเชื้อเพลิงทุกคันติดตั้งจีพีเอสให้เสร็จภายในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ซึ่งมีผลบังคับใช้กับรถบรรทุกวัตถุอันตรายที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา