เนื้อหาวันที่ : 2013-01-08 08:48:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1948 views

กระทรวงอุตฯ มอบบีโอไอนำทีมกล่อมเอสเอ็มอีญี่ปุ่นลงทุนในไทย

ดึงภาครัฐและเอกชนไทย-ญี่ปุ่นเป็นแนวร่วมจัดชักจูงการลงทุน

กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานชักจูงการลงทุนและเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นและเอสเอ็มอีไทย มอบเลขาธิการบีโอไอ นำทีมดึงดูดกลุ่มผู้รับช่วงการผลิตทั้ง Tier 2 และ Tier 3 จากญี่ปุ่นเน้นกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งเป้าเอสเอ็มอีญี่ปุ่นขยายการลงทุนมาไทยเพิ่มร้อยละ 5 ในปี 56-57 และเน้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย เตรียมดึงภาครัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุ่นเป็นแนวร่วมจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้ง “คณะทำงานชักจูงการลงทุนและเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น และเอสเอ็มอีไทย” มีนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นประธาน และมีผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่ในการชักจูงการลงทุนและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในกลุ่มผู้รับช่วงการผลิต (Tier 2 และTier 3) ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ภารกิจสำคัญของคณะทำงานดังกล่าว จะเน้นการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และเผยแพร่ศักยภาพและจุดแข็งของประเทศไทยต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่น รวมถึงให้ข้อมูลการทำธุรกิจในไทยที่ตรงต่อความต้องการของบริษัทที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้กำหนดให้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นมีศักยภาพและมีเทคโนโลยีสูง และเน้นผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอ อาทิ ชิ้นส่วนยานพาหนะ เครื่องจักรและแม่พิมพ์ที่ต้องการความแม่นยำสูง โลหะและชิ้นส่วนที่มีความเที่ยงตรงสูง เครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนโทรคมนาคมและกิจกรรมการผลิตหรือถนอมอาหาร เป็นต้น


“ภายหลังที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหา ทั้งค่าเงินแข็ง ความต้องการในประเทศญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มอิ่มตัว รวมถึงต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูงขึ้น จึงทำให้มีแนวโน้มที่กลุ่มเอสเอ็มอีจะออกมาลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง จากศักยภาพของความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางด้านการลงทุนในภูมิภาค ดังนั้นคณะทำงานฯชุดนี้จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความสนใจของกลุ่มเอสเอ็มอีให้เข้าใจประเทศไทยมากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ได้มอบนโยบายให้บีโอไอดำเนินงานแบบบูรณาการ โดยดึงภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่นมาเป็นแนวร่วม อาทิ บีโอไอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน เจโทร และหอการค้าญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อให้มีการกำหนดทิศทางการดึงดูดการลงทุนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้ จะมีกิจกรรมสำคัญทั้งในรูปแบบเชิงรับและรุก โดยเชิงรับจะต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อาทิ องค์การเจโทร กรุงเทพฯ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เป็นต้น เพื่อขอรับข้อมูลคณะนักลงทุนเอสเอ็มอี ที่ต้องการเดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนที่ประเทศไทย ขณะเดียวกันต้องมีกิจกรรมเชิงรุก ด้วยการจัดคณะชักจูงการลงทุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน จัดกิจกรรมสัมมนา และพบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเป็นกลุ่ม เบื้องต้นมีกำหนดจัดกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง

ทั้งนี้โครงการชักจูงการลงทุน และเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่น และเอสเอ็มอีไทย จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปีจากนี้ (สิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2556) โดยคาดว่าภายหลังการจัดกิจกรรมต่างๆ จะทำให้มีจำนวนคำขอรับการส่งเสริมของโครงการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยระหว่างปี 2556-
2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี การจัด Business Matching ระหว่างเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 500 รายในแต่ละปี ในขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยให้สูงขึ้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการร่วมทุนหรือความร่วมมือทางธุรกิจกับเอสเอ็มอี
ญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 50 รายต่อปี

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนระหว่าง 1-100 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็นโครงการเอสเอ็มอี โดยมีจำนวนคำขอรับการส่งเสริม รวมถึงมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปี 2553 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31
และ มูลค่าการลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 ปี 2554 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 และในปี 2555 (ม.ค.-ต.ค.) มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ4.2 ขณะที่มูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7

ภาพประกอบ : yalebooks.wordpress.com