ศูนย์วิจัยฯมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในปี 2556 จากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,344 รายทั่วประเทศ พบว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีถึง 40 %ที่ยังไม่พร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวมาแล้วถึง 1 ปี แต่ส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์และความรู้ รวมทั้งบุคลากรที่จะช่วยในการปรับตัว
ข้อเสนอแนะคือ รัฐบาลควรหามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ประกอบการกว่า 62 % เห็นว่าการจัดตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็นมาตรการที่บรรเทาผลกระทบได้ดีที่สุด ทั้งนี้ศูนย์วิจัยแนะนำว่าการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างดังกล่าวรัฐบาลควรใช้วิธีปรับแบบขั้นบันไดในระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกรัฐรับภาระ 75 % ใช้งบประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท ปีที่ 2 รัฐรับภาระเหลือ 50 % ใช้งบประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท และปีที่ 3 รัฐชดเชย 25 % ใช้งบ 2.4 หมื่นล้านบาท รวม 3 ปีใช้งบ 1.4 แสนล้านบาท