เนื้อหาวันที่ : 2012-12-14 16:36:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1700 views

โต้ง ฟุ้งจีดีพีปี56โตเกิน5%ชี้QE4ไม่กระทบไทย/ลุยพึ่งพา ศก.ในประเทศ

ปีหน้าไทยหันพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักโดยกระตุ้นการใช้จ่าย-ลดพึ่งพาการส่งออก มั่นใจช่วยดันเศรษฐกิจปี 56

"โต้ง" ระบุ "เอสแอนด์พี" หั่นเครดิตไทย ไม่กระทบกู้เมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาท ยันมะกันประกาศใช้ QE4 ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย เหตุปีหน้าไทยหันพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักโดยกระตุ้นการใช้จ่าย-ลดพึ่งพาการส่งออก มั่นใจช่วยดันเศรษฐกิจปี 56 โตได้สูงกว่า 5% "ประสาร" มอง QE4 ดันเงินไหลเข้าเอเชีย ย้ำไม่แทรกแซงค่าเงินบาทโดยไม่จำเป็น


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส จำกัดหรือ เอสแอนด์พี ประกาศแนวโน้มอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง หากฐานะการคลังและตัวชี้วัดเศรษฐกิจปรับลดลงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลว่า ไม่ได้รู้สึกกังวล เพราะเอสแอนด์พีทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะกำหนดอันดับอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของเขาซึ่งรัฐบาลได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วถึงนโยบายต่างๆ

ไม่เป็นไร เราก็ทำหน้าที่ของเราไปถ้าเขาฟังเข้าใจก็ดี ฟังไม่เข้าใจ ก็ติดตามดูแล้วกันว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร และแม้ว่าเราจะไม่ได้การปรับเครดิตเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้รับผลกระทบต่อการกู้เงินของรัฐบาลและเอกชน เพราะถ้าการออกตราสารทางการเงินในตลาดต่างประเทศในเวลานี้เราก็จะมีโอกาสได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีแล้วเมื่อเทียบเคียงกับประเทศที่มีความน่าเชื่อถือที่สูงกว่าเรา โดยเชื่อว่า จะไม่กระทบต่อการกู้เงินเพื่อมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลอย่างแน่นอน

สำหรับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณรอบใหม่ของสหรัฐฯ(QE 4) รอบใหม่ที่จะมีผลในปี 2556 เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศฝั่งซีกตะวันตกที่จะต้องมีการเข้มงวดกับการดำเนินนโยบายทางการคลังมากขึ้น จึงต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อให้ค่าเงินไม่อ่อนค่าจนเกินไป แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศฝั่งซีกตะวันตกในขณะนี้ ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกรวมถึงไทยด้วยได้รับผลกระทบ

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า ไทยต้องหันมาดูแลเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้นเพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออก โดยใช้3 แนวทาง คือ การเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ การกระตุ้นการลงทุนในประเทศและการใช้จ่ายภายในรัฐ ผ่านโครงการลงทุนเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ จึงเชื่อว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยปีหน้าจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 5

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่4 จะทำให้มีสภาพคล่องในระบบไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นในระยะต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยด้วย ธปท. ก็ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงค่าเงินบาทโดยไม่จำเป็น เพราะมีต้นทุนค่อนข้างสูง

โดยในปี 56 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอยู่โดยปัจจัยในประเทศเรื่องเงินเฟ้อเป็นสำคัญจากการปรับขึ้นค่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเริ่มใช้ทั่วประเทศในปีหน้า จึงไม่แน่ใจว่าธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้เท่ากับปีนี้หรือไม่ ซึ่งภาคธุรกิจบางส่วนใช้วิธีลดกำไร จึงยอมไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากปีหน้าต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้วจะลดกำไรอีกคงไม่ได้ จึงต้องติดตามผลดังกล่าวอีกทั้งต้องติดตามแนวโน้มอุปโภคบริโภคร้อนแรงเช่นกัน ส่วนราคาพลังงานในต่างประเทศเพิ่มไม่มากจากเศรษฐกิจซบเซาส่งผลให้แรงกดดันด้านดีมานด์และซัปพลายไม่มาก
          ทั้งนี้เท่าที่ประเมินโดยรวมแล้วในปี56 ปัญหาอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ความเสี่ยงค่อนไปด้านการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้ทิศทางนโยบายการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตเศรษฐกิจต่อไป