ชูแนวคิดการผลิตรถยนต์ 4 แนวคิด ได้แก่ รถยนต์สีเขียว ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือก รถยนต์ที่มีน้ำหนักเบา แต่มีมาตรฐาน
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555-2559) ว่า แผนแม่บทฉบับล่าสุดนี้ชูแนวคิดการผลิตรถยนต์ 4 แนวคิด ได้แก่ รถยนต์สีเขียว ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือก รถยนต์ที่มีน้ำหนักเบา แต่มีมาตรฐาน เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน รถยนต์ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีระบบไอที เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขับขี่ แก้ปัญหาการจราจร และรถยนต์ที่มีความปลอดภัยสูง ครอบคลุมยานพาหนะทุกประเภท ทั้งรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ รถขนส่ง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมนำแผนแม่บทเสนอนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และประกาศใช้
สำหรับแนวคิดดังกล่าวถือเป็นคอนเซ็ปต์แชมเปี้ยนของแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน ต่างจากฉบับอื่นๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง โดยแนวคิดในครั้งนี้ครอบคลุมการใช้พลังงานทุกรูปแบบทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวโน้มการผลิตรถยนต์ของโลกในอนาคต โดยในส่วนของรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเห็นว่าเริ่มมีการใช้มากขึ้น แต่ยังไม่แพร่หลาย ซึ่งจากการคาดการณ์รถยนต์ทั้ง 2 ประเภทจะเป็นที่นิยมในช่วงปี 2563
ขณะเดียวกันภายใต้แผนกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์ในเมืองไทย ซึ่งจะเป็นศูนย์ทดสอบของอาเซียน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อผลักดันให้ตั้งศูนย์ทดสอบได้ภายในปี 2558
นายปฏิมากล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบประมาณมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 8,100 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟสการลงทุน ได้แก่ เฟส 1 ศูนย์ทดสอบมาตรฐาน 3,200 ล้านบาท โดยจะใช้พื้นที่ไม่เกิน 200 ไร่ มีสถานที่ตั้งไม่ไกลจากท่าเรือน้ำลึก อยู่ในพื้นที่ตั้งของการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในภาคตะวันออก ซึ่งคงต้องให้รัฐบาลตัดสินใจเลือก
โดยศูนย์ดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2558 และเฟส 2 สนามทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือศูนย์การพัฒนาและวิจัยชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต มูลค่า 4,900 ล้านบาท โดย เฟส 2 นี้ยังไม่ระบุแน่นอนว่าต้องลงทุนเมื่อไหร่
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม ยานยนต์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาเทคโนโลยีและงานวิจัย 2.ความเป็นเลิศในด้านการพัฒนาบุคลากร 3.เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ 4.การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีด้วยปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน 5.การสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีด้วยการ บูรณาการนโยบายภาครัฐ โดยจะเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แห่งชาติ (กยช.)
สำหรับผลคาดหวังจากการดำเนินการตามแผน คือ ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยมีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ชนิดละไม่น้อยกว่า 3 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2560 มีมูลค่าเพิ่มจากการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเฉลี่ยเกินกว่า 50% ภายในปี 2556 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ยานยนต์ที่ดี