เนื้อหาวันที่ : 2012-12-12 10:11:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1940 views

กฟผ.ซื้อไฟลาวเพิ่ม-ปตท.หวั่นดีลLNGเชลก๊าซล่ม

ปตท.หวั่นเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งเชลก๊าซสหรัฐสะดุด

ปตท.หวั่นเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งเชลก๊าซสหรัฐสะดุด หลังกระทรวงพลังงานประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซลดลง จี้รัฐขอความมั่นใจ พร้อมให้การสนับสนุนสัญญาซื้อก๊าซ และยอมรับความเสี่ยงจากราคาปรับขึ้น-ลงในอนาคตร่วมกัน คาดราคาซื้อขายไม่เกิน 12 เหรียญ/ล้านบีทียู
         
แหล่งข่าวในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในฐานะผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับล่าสุด (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อซื้อก๊าซ LNG จากแหล่งเชลก๊าซ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากราคาเนื้อก๊าซ LNG อยู่ที่ 3.5-4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้สถานะก๊าซเป็นของเหลวติดลบที่อุณหภูมิ 160 องศา กับค่าขนส่งทางเรือที่ 7-8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จนกระทั่งขนส่งมาถึงไทยราคาจะอยู่ที่ 12 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

ราคาก๊าซ LNG จากแหล่งดังกล่าวถือว่าค่อนข้างถูก เพราะอ้างอิง Henry Hub หรือตลาดก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่จะอ้างอิงกับราคาน้ำมันตลาดโลก เหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัท ปตท.สนใจซื้อก๊าซจากแหล่งนี้ เพราะมีการเตรียมที่จะผลิตก๊าซจากหลายโครงการ ทำให้มั่นใจในแง่ของความมั่นคง หากการผลิตในโครงการใดมีปัญหา ก็สามารถส่งก๊าซจากโครงการอื่น ๆ มาเสริมได้ ที่สำคัญการผลิตจากแหล่งนี้ในเฟสที่ 2 จะเข้าระบบภายใน ปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้จากโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศไทยด้วย

 "แหล่งเชลก๊าซค่อนข้างตรงกับ ความต้องการของ ปตท. คือราคาต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งอื่น รวมถึงโครงการนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะมี การผลิตเกิดขึ้นแน่นอน และภายหลัง การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐแล้วเสร็จ ในระดับนโยบายของสหรัฐจะชัดเจนขึ้นว่าจะมีการผลักดันให้เดินหน้าพัฒนาแหล่งดังกล่าว และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเริ่มเข้ามาเจรจามากขึ้น"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่น่าห่วงคือขณะนี้ก็คือแผนเจรจาอาจจะ "สะดุด" เนื่องจากบริษัท ปตท.ค่อนข้างกังวลใน 2 ประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานมีนโยบายที่ชัดเจน คือ 1) การปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเป็น 20,000 เมกะวัตต์ ตลอดทั้งแผน PDP ของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ จึงขอความชัดเจนว่า ตามแผน PDP ความต้องการปริมาณก๊าซ LNG จะเป็นอย่างไร

และ 2) เงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา อาจจะมีรายละเอียดในบางเงื่อนไขที่อาจจะมีความ "เสี่ยง" อยู่บ้าง จึงต้องการให้กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนสัญญาซื้อขายดังกล่าว และเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะในประเด็นราคาที่อาจจะมีโอกาสปรับขึ้น-ลง ตามกลไกตลาดได้

ยกตัวอย่างเงื่อนไขสัญญาซื้อขาย คือ ราคาซื้อขายก๊าซ LNG ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ฉะนั้นต้อง "ยอมรับ" ราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตด้วย นอกจากนี้ในสัญญาระบุว่า หากมีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของปริมาณก๊าซธรรมชาติภายในประเทศสหรัฐ อาจจำเป็นต้องระงับการซื้อขาย-ส่งออกจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งผู้ซื้อจะต้อง แบกรับต้นทุนในกรณีเช่าเรือขนส่งก๊าซ LNG มาลอยลำรอไว้ โดยต้นทุนขนส่ง ด้วยเรือปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

"ปตท.ทำหน้าที่แทนรัฐบาล ต้อง ยอมรับว่าการเจรจาซื้อขายก๊าซ LNG ในแต่ละแหล่งนั้นมีข้อดี-ข้อเสีย เชลก๊าซเป็นแหล่งใหญ่ที่ซัพพอร์ตได้ในระยะยาว แต่เรื่องสัญญายังต้องดูในรายละเอียดอีกมาก และก่อนที่จะมีการตกลงกันก็อยากจะขอคำแนะนำจากกระทรวงพลังงาน เพราะกฎหมายของสหรัฐอาจยังไม่ค่อยคุ้นเคยกัน เพื่อให้ยอมรับร่วมกันถึงผลที่จะ เกิดขึ้นไม่ว่าราคา LNG จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตาม"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แหล่งเชลก๊าซได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่ทั่วโลกจับตามองและต้องการจะเข้ามาเจรจาซื้อก๊าซ ทั้งนี้รัฐบาลของสหรัฐจะประกาศชัดเจนในช่วงต้นปี 2556 นี้ว่าจะพัฒนาแหล่งเชลก๊าซ นี้อย่างไรต่อไป และอาจจะเปิดให้กับ ผู้สนใจเข้ามาเจรจา ฉะนั้นในช่วงนี้รัฐบาลไทยจะต้องชัดเจนแล้วว่า มีความสนใจที่จะซื้อก๊าซ LNG จากแหล่งดังกล่าวหรือไม่ เพราะกระบวนการของไทยค่อนข้างใช้เวลา หากระดับนโยบายไม่ชัดเจน ทางสหรัฐอาจจะเปิดโอกาสให้กับผู้สนใจรายอื่น ๆ ก่อน ซึ่งหากไทยต้องการจะซื้อก๊าซจากแหล่งนี้ต่อไป อาจจะต้องรอการพัฒนาในระยะที่ 3 และอาจต้องใช้เวลามากขึ้น ในขณะที่บริษัท ปตท.อาจจะต้องไปเจรจาซื้อก๊าซ LNG ในตลาดจรเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ ความต้องการใช้ในปี 2560

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การพัฒนาแหล่งเชลก๊าซครั้งนี้ของประเทศสหรัฐ ทำให้ปริมาณสำรองพลังงานของประเทศสูงขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติให้ลดต่ำลงในรอบทศวรรษ ราคาแตะ อยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าแหล่งเชลก๊าซมีปริมาณมหาศาล และค่อนข้างดึงดูดความสนใจจากบริษัทพลังงานจากทั่วโลก

โดยล่าสุด ไฟแนนเชียล ไทมส์รายงานว่า มีทั้งบริษัท ซาอุดี เบสิก อินดัสทรีส์ เป็นบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ของโลกกำลังเจรจาเข้าไปลงทุนในสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทดาว เคมีคอล, โคโนโคฟิลิปส์, เชฟรอน, รอยัล ดัตช์ เชลล์ และลีออน เดลบาเซลล์ ที่สนใจจะขยายการลงทุนเชลก๊าซด้วย

ทั้งนี้ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดให้บริษัท ปตท.นำเข้าก๊าซ LNG ในปริมาณ 5 ล้านตัน/ปี ตั้งแต่ปี 2559 ทั้งที่เป็นสัญญา Spot (ตลาดจร) แบบสัญญาระยะสั้น และระยะยาว โดยก่อนหน้านี้ได้ลงนามสัญญา ซื้อขายก๊าซกับบริษัท Qatar Liqueed Gas Company Limited ในปริมาณ 2 ล้านตัน/ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ในปริมาณ 1 ล้านตัน/ปี และให้เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ล้านตัน/ปี ในช่วงปี 2556-2557