ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.40 มองว่าปัญหาพลังงานเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรแก้ไข เพราะ พลังงานมีเหลือน้อยใกล้จะหมด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พลังงาน กับ การสร้างโรงไฟฟ้า” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 - 22 พฤศจิกายน 2555 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ เกี่ยวกับพลังงานที่ใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้า จากการสำรวจ พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.40 มองว่าปัญหาพลังงานเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรแก้ไข เพราะ พลังงานมีเหลือน้อยใกล้จะหมด อีกทั้งมีการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และร้อยละ 10.32 ระบุว่า ไม่เร่งด่วน เพราะ ยังมีพลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือก ควรแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ ก่อน เช่น ปัญหายาเสพติด และปัญหาเศรษฐกิจ
เมื่อสอบถามถึงหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชนควรใช้พลังงานชนิดใด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่า ควรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีใช้ได้ไม่จำกัด รองลงมาร้อยละ 12.80 พลังงานลม เพราะไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 10.56 ควรใช้พลังงานน้ำ/พลังงานจากเขื่อน เพราะในประเทศมีเขื่อนอยู่หลายแห่ง และถ้าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชน สิ่งประชาชนกังวลมากที่สุด ร้อยละ 51.60 กังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในชุนชน รองลงมา ร้อยละ 25.20 ผลกระทบด้านสุขภาพ และร้อยละ 21.84 การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับวิธีการประหยัดพลังงาน ประชาชน ร้อยละ 65.00 ระบุว่า ปิดสวิตซ์ไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเลิกใช้งาน และร้อยละ 15.50 ปลูกต้นไม้รอบๆ บ้าน/อาคาร