เนื้อหาวันที่ : 2012-12-11 08:13:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2418 views

เปรมชัย โอดนิคมฯทวายช้ารอผลศึกษาไทย-พม่าก.พ.56

เปรมชัย รอรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ลงนามพม่าเดินหน้านิคมฯทวาย ชี้โครงการล่าช้ามาแล้ว 8 เดือน เตรียมเปิดขายพื้นที่ใน 2 เดือนนี้

"เปรมชัย" รอรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ลงนามพม่าเดินหน้านิคมฯทวาย ชี้โครงการล่าช้ามาแล้ว 8 เดือน เตรียมเปิดขายพื้นที่ใน 2 เดือนนี้ เผยมีกลุ่มอุตสาหกรรมกว่า100รายสนใจ สิ่งทอมากที่สุด "ชัชชาติ"คาดสรุปแผนเสร็จเดือนก.พ.ปีหน้า ยันรัฐบาลหนุนเต็มที่โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า มีความล่าช้ากว่ากำหนดเดิม เนื่องจากรอผลการศึกษาจากรัฐบาลไทยและพม่า ในขณะที่บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด หรือ ดีดีซี  เตรียมเปิดขายพื้นที่ภายในนิคมฯ

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เกิดจากความต้องการของพม่าที่ต้องการสร้างความมั่นใจโครงการดังกล่าว  ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายชุดเพื่อดำเนินการ แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินทุนมหาศาลทำให้ความล่าช้าเกิดขึ้น

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายล่าช้าประมาณ 7-8 เดือน จากแผนเดิมที่คาดว่าบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด หรือ ดีดีซี จะลงนามสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลเมียนมาร์ได้ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา

"ปัจจุบันยังไม่ได้ลงนาม เพราะว่ารัฐบาลเมียนมาร์รอความชัดเจนของแผนความร่วมมือ ที่รัฐบาลเมียนมาร์และไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสรุปแนวทางได้ชัดเจนในเดือนก.พ. นี้"

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการที่สนใจไปตั้งโรงงานในนิคมฯ ทวายแล้ว กว่า 100 ราย ทำให้แผนการเปิดขายพื้นที่ภายในนิคมฯ ต้องเปิด พื้นที่พร้อมกันถึงระยะที่ 5 จากเดิมที่จะ ทยอยเปิดพื้นที่ทีละระยะๆ ละ 1 ตร.กม. โดยระยะที่ 1 เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ระยะที่ 2  กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตจาก ยางพาราระยะที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และไม้ยางพารา ระยะที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และระยะที่ 6 จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมฟอกหนัง

"กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่นอกเหนือคาดการณ์ของบริษัท ที่สนใจมาตั้งโรงงานที่นิคมฯ ซึ่งเป็นผลจากในปี 2556 ประเทศเมียนมาร์จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ทำให้สามารถส่งสินค้าที่ผลิตจากเมียนมาร์ไปขายยังสหภาพยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ประเทศไทย จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวแล้ว ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนังของไทย จึงย้ายฐานการ ผลิตไปลงทุนในเมียนมาร์" นายเปรมชัย กล่าว

ทั้งนี้ ภายใน 1-2 เดือนนี้ บริษัทจะเปิดขายพื้นที่ภายในนิคมฯ และจะเร่งก่อสร้างและเปิดให้บริการระบบไฟฟ้า น้ำประปา ภายในต้นปี 2556 โดยพื้นที่ภายในนิคมฯ มีประมาณ 25,000 ไร่ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในนิคมฯ ประมาณ 4-5 พันล้านบาท ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และถนนจากท่าเรือทวายถึงชายแดนไทย จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจกา ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ที่เหลือ 2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินทุนจากผู้ถือหุ้น

นายเปรมชัย กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องใช้เงินกู้ไจกา เพราะว่าเป็นเงินกู้ระยะยาว 25 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 15% และ คุ้มทุนภายใน 10 ปี แต่หากใช้เงินกู้จากแหล่งอื่น ระยะเวลากู้จะสั้นเพียง 8 ปี ซึ่ง ไจกา เสนอให้บริษัทต้องมีผู้ร่วมทุนญี่ปุ่น และผู้ถือหุ้นคนไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้งขอให้รัฐบาลไทยให้การรับรองอย่างเป็นทางการในการสนับสนุนโครงการ


ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวไปแล้วประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าเวนคืนที่ดิน โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างท่าเรือและถนนนั้น บริษัทจะถือหุ้น 25% ที่เหลือเปิดให้นักลงทุนอื่นเข้ามาร่วมทุน ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งจาก จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สนใจเข้าร่วมลงทุน

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลไทยจะสรุปผลการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือทวายตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาร์ในเดือนก.พ. 2556 โดยหากไทยไม่ให้การสนับสนุน โครงการนี้จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่มองว่าโครงการเป็นประโยชน์กับประเทศกลุ่มอาเซียน รัฐบาลจึงเข้ามาให้การสนับสนุน

"อย่ามองว่ารัฐบาลเข้าไปช่วยสนับสนุนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เพราะไม่ว่าจะเป็นเอกชนรายใดเข้ามาลงทุน รัฐบาลก็สนับสนุน โดยหากว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนก็ไปไม่รอด เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่เกินไปกว่าที่เอกชนเพียงรายเดียวจะเข้าไปพัฒนาได้ ส่วนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ นั้น ถือว่าเขาเห็นและมองโอกาสได้ก่อนคนอื่นเท่านั้น" นายชัชชาติ กล่าว สำหรับคณะอนุกรรมการที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงการทวาย มี 6 ฝ่าย  ประกอบด้วย 1.อนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม ด้านนิคมอุตสาหกรรม มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน 2.อนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นประธาน 3.อนุกรรมการด้านการเงิน-การคลัง มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

4.อนุกรรมการด้านพลังงาน มี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน 5.อนุกรรมการด้านกฎหมาย-กฎระเบียบ มีนายกิตติรัตน์ เป็นประธาน 6.อนุกรรมการด้านความเป็นอยู่ของ ชุมชนมีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน