เนื้อหาวันที่ : 2012-12-07 11:50:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1669 views

ศก.ปี 56โต 6.5% ระวังเกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น-อสังหาฯ

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2556 ว่า จะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 5.5-6.5% เป็นผลจากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทั้งภาคการบริโภค การลงทุน การฟื้นตัวของภาคส่งออก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2556 ว่า จะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 5.5-6.5% เป็นผลจากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทั้งภาคการบริโภค การลงทุน การฟื้นตัวของภาคส่งออก ดุลการค้าและดุลบริการที่เกินดุลเพิ่มขึ้นและกระแสเงินลงทุนจาก ต่างประเทศยังไหลสู่ภูมิภาคอาเซียนและไทยอย่างต่อเนื่อง

อัตราการเติบโตของการลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8-10% โดยในส่วนของการลงทุนภาครัฐ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์และการบริหารจัดการน้ำน่าจะมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ช่วงต้นปีจะเป็นตัวช่วยให้กระตุ้นภาคการบริโภคขยายตัวโดยคาดว่าในปี 2556 อัตราการขยายตัวของการบริโภคจะอยู่ที่ 4%

นายอนุสรณ์มองว่า ปี 2556 แรงกดดันเงินเฟ้อทยอยเพิ่มขึ้น เริ่มมีสัญญาณฟองสบู่เกิดขึ้นบ้างในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่ยังไม่น่าวิตกกังวล เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.8-4.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 2-2.5% ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่จำเป็นต้องปรับลดลงแต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น 0.50% ในช่วงครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจขยายตัวดีและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน่าจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น

ส่วนสภาพคล่องในระบบการเงินอาจตึงตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อความต้องการใช้เงินทุนของภาคเอกชนและภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น การระดมเม็ดเงินในประเทศของรัฐบาลอาจทำให้เกิด การไปแย่งเม็ดเงินการลงทุนภาคเอกชนได้ และดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมีผลน้อยลง

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองมีความไม่แน่นอนสูงและจะส่งผลต่อความผันผวนต่อตลาดการเงินภายในประเทศ รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศได้ โดยความเสี่ยงทางการเมือง ในไทยมีทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำ และความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ความขัดแย้งที่รุนแรงอาจปะทุขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง จนสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของระบบการเมืองได้