เอสเอ็มอีใน 70 จังหวัด ในกรณีที่รัฐบาลได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน พบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 29 จังหวัด
นายชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ปี 56 ผู้ประกอบการ อุตฯ รองเท้าไทยขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็ม อี) ประมาณ 20-30% หรือกว่า 1,000 รายจากทั้งหมดที่มีอยู่ 6,000 ราย มีแนวโน้มว่าจะต้องปิดกิจการลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มโดยเฉพาะจากปัจจัยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศที่มีผลบังคับ 1 ม.ค. 56
"ปีหน้าจะเป็นตัวชี้วัดว่าเอสเอ็มอีในอุตฯรองเท้าไทยจะอยู่หรือไปแน่เพราะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี ปี 58 ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังไม่ฟื้นตัวทำให้ทุนต่าง ๆ หันมามองตลาดอาเซียนมากขึ้นทำให้ตลาดเริ่มแข่งขันมาก แต่จากการสำรวจของสมาคมฯพบว่าเอสเอ็มอีในอุตฯรองเท้าไทย 20-30% ปรับตัวยากมากเพราะแทบไม่รู้เลยว่า เออีซี คืออะไร และการผลิตยังเป็นครอบครัวที่เน้นใช้แรงงานสูง"
ทั้งนี้ล่าสุดธุรกิจรองเท้าขนาดใหญ่มีบริษัทลูกที่เป็นเครือข่ายการผลิตที่เป็นเอสเอ็ม อีเริ่มหันมารับคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ทั้งหมดต่างจากอดีตที่คำสั่งซื้อเล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะโยนให้กับเอสเอ็มอีรายอื่น ๆ ดังนั้นปี 56 ภาพรวมการแข่งขันย่อมรุนแรงขึ้นสำหรับรายเล็ก
สำหรับรายใหญ่แล้วบางรายที่มีการบริหารงานที่ยังไม่คล่องตัวก็อาจจะต้องลดขนาดกิจการลงมาบ้างเพื่อที่ปรับตัวรองรับเออีซี ที่ทุนต่างชาติจะรุกตลาดมายังไทยมากขึ้น ส่วนรายที่รับจ้างการผลิตที่รับออร์เดอร์จากต่างประเทศภาพรวมยังคงรักษาฐานลูกค้าเก่า ๆ ได้ แต่โดยรวมอุตฯ รองเท้าไทยจะต้องเร่งสร้างแบรนด์สินค้าในการทำตลาดอาเซียนเพื่อรองรับเออีซี ก่อนที่จะก้าวสู่แบรนด์ระดับโลก
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานเอสเอ็มอีในต่าง
จังหวัดจำนวนมากเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เนื่องจากแรงงานที่เป็นเกษตรกรเริ่มลาออกจากงานเพื่อไปทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชเกษตรอย่าง ข้าวและอ้อย ที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินกำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ทั้ง ๆ ที่หลายรายมีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ในปริมาณมาก
สำหรับแรงงานที่ทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมนั้นคิดเป็นตัวเลขแล้วมีอยู่ประมาณหลายหมื่นคน อย่างไรก็ตามแรงงานประเภทนี้โรงงานถือว่ายังเป็นกลุ่มที่ไม่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพได้ลำบากเพราะมีการทำงาน 7-8 เดือนจากนั้นอีก 4-5 เดือนก็กลับไปทำงานในภาคเกษตร เนื่องจากส่วนใหญ่มีไร่นาอยู่แล้ว และคาดว่ากลุ่มที่ลาออกไปทำงานด้านเกษตรกรรมจะเข้ามาสมัคร งานอีกครั้งในช่วงหลังปีใหม่
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่โรงงานจำเป็นต้องรับแรงงานกลุ่มนี้เพราะยอมรับว่าหลายที่ขาดแคลนแรงงาน และที่สำคัญการใช้แรงงานที่เป็นคนไทยยังดีกว่าการใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานต่างด้าวนอกจากจะเริ่มต้นทุนการอบรมการทำงานแล้วยังต้องอบรมการสื่อสารกับคนไทยอีก
นายวัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดเริ่มปรับลดขนาดกิจการ ชะลอรับแรงงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ยกเว้นกลุ่มแรงงานฝีมือ รวมถึงมีการกดดันให้แรงงานที่ไม่มีศักยภาพออกจากงานเพื่อเตรียมรับมือต้นทุนที่จะสูงขึ้นหลังจากรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เนื่องจากนโยบายส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตอย่างมาก
ทั้งนี้หากมาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายได้เตรียมแผนขั้นต่อไปในการปิดกิจการแล้วไปเปิดโรงงานใหม่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือใกล้กับระบบโลจิสติกส์ เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง และสุดท้ายหากมีเงินทุนและเครือข่ายคงต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้เท่าที่มีการสำรวจเอสเอ็มอีใน 70 จังหวัด ในกรณีที่รัฐบาลได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน พบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 29 จังหวัด.