เนื้อหาวันที่ : 2012-12-04 11:09:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2921 views

ระเบียงเศรษฐกิจแนวโน้มการค้าของไทยกับ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวโน้มการค้าของไทยกับ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) กำลังมาแรง แต่คำว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation หรือ GMS) ซึ่งประกอบด้วยประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ก็กำลังถูกกล่าวถึงมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากทั้งGMS และเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) เป็นส่วนหนึ่งของ AEC ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญและเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งต่อการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

ในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่กลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศร่วมมือกันพัฒนาใน 9 สาขา (คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) ได้เห็นผลสำเร็จของการพัฒนาชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางถนนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แนวพื้นที่หลัก โดยสรุปสั้นๆ ดังนี้

1.แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NorthSouth Economic Corridor : NSEC) ประกอบด้วย 3 เส้นทางหลัก ระยะทาง รวม 1,800 กิโลเมตร คือ เส้นทาง R3E เชื่อมต่อระหว่างจีนตอนใต้กับภูมิภาคอาเซียน มีจุดเริ่มต้นที่คุนหมิงของจีนมายังประเทศลาว แล้วเข้าประเทศไทยที่ จ.เชียงราย โดยมีปลายทางที่กรุงเทพฯ ส่วนเส้นทาง R3W มีจุดเริ่มต้นที่คุนหมิง ผ่านพม่าที่ท่าขี้เหล็กแล้วเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.เชียงราย โดยมีปลายทางอยู่ที่กรุงเทพฯ เช่นกัน สำหรับอีก 1 เส้นทาง คือเส้นทาง R5 เชื่อมคุนหมิงกับเมืองฮานอยและไฮฟองของเวียดนาม

2.แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทาง R9 เชื่อมโยงพื้นที่ด้านตะวันออกจากเมืองดานังประเทศเวียดนามผ่านลาวที่สะหวันนะเขตแล้วข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เพื่อเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.มุกดาหาร โดยมีปลายทางที่สหภาพพม่า ถือว่าเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน มีระยะทาง 1,450 กิโลเมตร

3.แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) ระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร เป็นการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม มีเส้นทางสำคัญ 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง R1 มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ผ่าน จ.สระแก้ว ก่อนเข้าพนมเปญของกัมพูชาโดยมีปลายทางที่ โฮจิมินห์ซิตีและวังเตาของเวียดนาม ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง คือ R10 มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เช่นกัน แต่จะเลียบชายฝั๋งทะเลไปยังเกาะกงของกัมพูชาโดยมีปลายทางที่เมืองนามคานของเวียดนาม

 แม้เส้นทางการคมนาคมทางถนนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวในบางส่วนจะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างกันในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตามขณะนี้เส้นทางคมนาคมทางถนนหลายพื้นที่ก็ได้พัฒนาไปมาก และเป็นผลดีต่อการค้าชายแดนของประเทศต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ เช่น ความก้าวหน้าในการสร้างและขยายเส้นทางหลายเลข 9 (R9) ที่เชื่อม4 ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม เข้าด้วยกัน

และสะพานมิตรภาพไทย็ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร็สะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทำให้หลังจากการเปิดใช้สะพานดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ม.ค. 2550 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาวในปี 2551 ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2550 เกือบ 50% รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาวในปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2550 ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลักตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2557 นอกจากนี้เส้นทางคมนาคมตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) ทั้งสองเส้นทางหลักก็ได้พัฒนาไปมากเช่นกัน โดยเฉพาะเส้นทางที่อยู่ในประเทศไทย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาขยายสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ยกเว้นปี 2552)

ความก้าวหน้าในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมดังกล่าว ประกอบกับปัจจัยสนับ สนุนอื่นๆโดยเฉพาะข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน็จีน และเขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้อัตราภาษีปรับลดลงเป็นลำดับและการกีดกันทางการค้าลดลงด้วย ตลอดจนการที่พม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ทำให้มีความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการก่อสร้างและพัฒนาประเทศ และประชากรของประเทศเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น จะเป็นแรงหนุนสำคัญให้การค้าระหว่างไทยกับพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และมณฑลยูนนาน (จีน) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV จะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง เพราะมีคุณภาพดีและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดดังกล่าว ทั้งสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่มเครื่องสำอางและสบู่เหล็กและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรและอุปกรณ์ส่วนสินค้านำเข้าอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ สินค้าสำคัญที่นำเข้าจากกัมพูชา พม่า และลาว จะเป็นการนำเข้าพลังงาน สินค้าพื้นฐาน และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ (นำเข้าจากพม่า) ผักและผลไม้ ไม้ซุงและไม้แปรรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รวมทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป (นำเข้าจากกัมพูชาและพม่า) ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากเวียดนามเป็นสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเคมีภัณฑ์ และสัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง

สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยไปมณฑลยูนนาน (จีน) จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นที่ต้องการของชาวจีน เนื่องจากกำลังซื้อของประชากรจีนที่สูงขึ้น เช่น ผลไม้สำคัญของไทย (ทุเรียน มังคุด) ข้าวหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง เป็นต้น ตลอดจนการส่งออกน้ำตาลทรายและยางพารา ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากยูนนาน เป็นผักและผลไม้ต่างๆ รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมที่จีนมีศักยภาพในการผลิต ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบเป็นต้น

"สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV จะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง เพราะมีคุณภาพดีและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดดังกล่าว ทั้งสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม"